ข่าวเศรษฐกิจ

‘เศรษฐา’ มั่นใจ ร่วมมือกับ Microsoft นำไทยสู่ 'เศรษฐกิจดิจิทัล'

1 พ.ค. 67
‘เศรษฐา’ มั่นใจ ร่วมมือกับ Microsoft นำไทยสู่ 'เศรษฐกิจดิจิทัล'

หลังจากที่รัฐบาลไทยและ Microsoft ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้วิสัยทัศน์ในการยกระดับประเทศไทยให้มุ่งสู่ก้าวต่อไปกับนวัตกรรมดิจิทัลและ AI เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2566 ที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

ล่าสุด วันนี้ 1 พ.ค. 2567 นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เข้าร่วมงาน ‘Microsoft Build AI Day Event’ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการประกาศแผนการตั้งดาต้าเซ็นเตอร์แห่งแรกในประเทศไทยของ Microsoft พร้อมทั้งแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาด้านคลาวด์ละ AI ในไทย และเสริมทักษะด้าน AI ให้กับคนไทยด้วย

นายกฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน AI เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังมากที่สุดในทศวรรษนี้ ทั้งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สถานที่ทำงาน และวิธีการดำเนินธุรกิจ โดยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยพร้อมสำหรับการเติบโตและสนับสนุนอุตสาหกรรม AI

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอินเทอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค รวมถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ครอบคลุมที่สุด โครงข่ายมือถือ โครงสร้างพื้นฐาน 5G และโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ 

ซึ่งพันธสัญญาที่ร่วมกับ Microsoft สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ‘IGNITE THAILAND’ ที่ได้ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลและเส้นทางที่ชัดเจนในการเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคใน 8 อุตสาหกรรมหลัก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิตอลด้วย

ซึ่งตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง นายกฯ ได้ดำเนินนโยบายทั้งระยะสั้นและยาว เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับสถานะไทยในโลก โดยรัฐบาลกำลังขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้าน AI แห่งชาติ ระยะที่ 2 ช่วงปี 2567-2570 เพื่อใช้ประโยชน์จากพลังของ AI และการประมวลผลแบบคลาวด์ในประเทศ โดยดำเนินโครงการเสริมระบบนิเวศ AI ของไทย 

ไทยเนื้อหอม! ต่างชาติปักหมุดตั้งสำนักงานพุ่ง

 

การลงนามบันทึกความเข้าใจของรัฐบาลไทยและ Microsoft ก่อนหน้านี้ แสดงถึงความมุ่งมั่นของไทยที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ Microsoft ในการนำเทคโนโลยีคลาวด์ และ AI ที่มีประสิทธิภาพมาเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลของไทย

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตลาดสำนักงานในไทยคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผลมาจากนโยบายของ นายกฯ ที่ส่งเสริมการลงทุนและสนับสนุนให้ใช้ศักยภาพของประเทศในทุกมิติผลการสำรวจพบเหตุผลที่บริษัทต่างชาติมาตั้งสำนักงานในประเทศไทย เพราะ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ดี, แรงงานที่มีคุณภาพและทักษะตรงตามความต้องการ, ค่าแรงที่เหมาะสม, ความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษและทักษะด้านดิจิทัล, ค่าครองชีพที่ไม่สูงมาก, และ มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ดึงดูดใจ เช่น วีซ่าพำนักระยะยาว (Long-term Resident Visa) ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานแบบ One Stop Service และ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบางประเภทธุรกิจ

ก่อนหน้านี้บอร์ด BOI ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุน Data Center ในไทยจากบริษัท เน็กซ์ ดีซี จำกัด ผู้ให้บริการ Data Center รายใหญ่ของออสเตรเลีย รวมถึง บริษัท ซีทีอาร์แอลเอส ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการ Data Center รายใหญ่จากอินเดีย มาแล้วด้วย ก็หวังว่าจะพัฒนาคนไทยและเพิ่มการจ้างงานคนไทยได้มากขึ้น

นอกจากนี้ Microsoft จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลช่วยเพิ่มการเข้าถึงการศึกษา และโอกาสให้กับชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมดิจิทัลและความยั่งยืนดังนี้:

- ยกระดับความสามารถด้าน AI ให้กับคนไทยกว่า 100,000 คน

- ขับเคลื่อนการเติบโตของชุมชนนักพัฒนาผ่านโครงการ AI Odyssey ที่สนับสนุนนักพัฒนาชาวไทยกว่า 6,000 คน

- สนับสนุนนโยบาย ‘Cloud First’ ของภาครัฐ โดยพัฒนาทักษะด้าน AI สำหรับข้าราชการและนักพัฒนาที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ

ด้าน นายสัตยา นาเดลลา ประธานกรรมการและซีอีโอของ Microsoft ให้คำมั่นว่า Microsoft พร้อมเข้ามาลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย และพร้อมมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพ เพราะประเทศไทยเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วสำหรับ GitHub แพลตฟอร์มที่มี Microsoft เป็นเจ้าของที่ออกแบบมาเพื่อรองรับนักพัฒนา โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีนักพัฒนาในประเทศไทยรวมกว่า 900,000 รายที่ใช้งาน GitHub หรือเพิ่มขึ้น 24% เทียบกับปีก่อนหน้า

 

ในตอนท้าย นายกฯ กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ Microsoft ประเทศไทย ซึ่งมั่นใจว่า ความร่วมมือระหว่างกันนี้จะนำไปสู่อนาคตร่วมกัน พร้อมย้ำถึงความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สมบูรณ์แบบสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล

โดยรัฐบาลพร้อมรับฟังความคิด เข้าใจความต้องการ และพร้อมหาทางออกที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตในประเทศไทยต่อไป

advertisement

SPOTLIGHT