อินไซต์เศรษฐกิจ

ไทยมี ‘ลิงล้นเมือง’ ออสเตรเลีย เจอ ‘จิงโจ้ล้นเมือง’ รัฐบาลหนุนกินเนื้อจิงโจ้

3 พ.ค. 67
ไทยมี ‘ลิงล้นเมือง’ ออสเตรเลีย เจอ ‘จิงโจ้ล้นเมือง’ รัฐบาลหนุนกินเนื้อจิงโจ้

istock-963351930

ประเทศไทยโดยเฉพาะที่จังหวัดลพบุรี เจอปัญหา ‘วิกฤตลิงล้นเมือง’ จนกลายเป็นภาพข่าวที่ลิงเข้ามาอาศัยปนกับผู้คนในเมือง แถมยังสร้างความเดือดร้อนเพราะเจอทั้งปัญหาลิงดุร้าย เกเร ทำร้ายคน เช่นเดียวกับเรื่องสุขอนามัย โรคติดต่อ ไปจนถึงความสะอาดของบ้านเมืองอีกด้วย 

ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยแห่งเดียว แต่ยังมีที่ออสเตรเลีย ต้องเจอปัญหาจำนวนจิงโจ้เพิ่มมากขึ้น ถึงขนาดที่ว่า รัฐบาลของออสเตรเลียต้องมีการกำจัด จิงโจ้ทุกปี เนื่องจาก จำนวนประชากรจิงโจ้เคยมีมากกว่า 3 เท่าของพลเมืองออสซี่ เมื่อปี 2001 (จำนวนจิงโจ้มี 57 ล้านตัว แต่ประชากรออสเตรเลียมีเพียง 19 ล้านคน) และยังมีการสนับสนุนให้ประชาชนบริโภคเนื้อจิงโจ้ ที่มีการวางขายอยู่ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตอยู่อีกด้วย

บทความนี้ SPOTLIGHT จะพาทุกคนไปหาสาเหตุทำไมออสเตรเลียแดนจิงโจ้ ถึงเกิดปัญหาจิงโจ้ล้นเมือง รัฐบาลมีวิธีการเเก้ไขปัญหาอย่างไร 

1a1d1fc343d9cc8f82454139955bd

จิงโจ้ ภาพจำของออสเตรเลีย ‘ประเทศแดนจิงโจ้

หากเราจะพูดถึงประเทศออสเตรเลีย แน่นอนว่าหลายๆคนนึกถึง จิงโจ้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทีมักมีลูกจิงโจ้ตัวจิ๋วซ่อนตัวอยู่กระเป๋าข้างหน้า และกระโดดดึ๋งๆแทนการเดิน ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ไม่เหมือนใคร ทำให้ใครหลายคนเอ็นดูถึงความน่ารักของน้อง

แต่รู้หรือไม่ จิงโจ้-นกอีมูถูกเลือกให้เป็น 2 ตัวแทนสัตว์สัญชาติออสซี่ ที่ประคองตราแผ่นดินของออสเตรเลียอยู่ (Australian Coat of Arms) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาลออสเตรเลีย เนื่องจาก ทั้งจิงโจ้และนกอีมูเป็นสัตว์ไม่กี่ชนิดบนโลกใบนี้ที่ไม่สามารถเดินหรือกระโดดถอยหลังได้ออสเตรเลียจึงเลือกขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ว่า "ประเทศนี้จะก้าวไปข้างหน้าเท่านั้น"

โดยทั้งจิงโจ้และนกอีมู ได้รับการคัดเลือกให้ไปเป็นสัญลักษณ์ประดับอยู่บนตราแผ่นดินของออสเตรเลีย โดยได้รับพระราชทานจากพระเจ้าจอร์จที่ 5 ของสหราชอาณาจักร มาตั้งแต่ปี 1912 

istock-478256925_1

จากสัญลักษณ์คู่บ้านเมือง สู่จำนวนที่สามารถยึดครองประเทศได้

ส่องประชากรจิงโจ้ VS ประชากรออสเตรเลีย

ปี 2001 : จำนวนจิงโจ้ 57.43 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 19.27 ล้านคน

ปี 2002 : จำนวนจิงโจ้ 48.84 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 19.5 ล้านคน

ปี 2003 : จำนวนจิงโจ้ 28.21 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 19.72 ล้านคน

ปี 2004 : จำนวนจิงโจ้ 25.31 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 19.93 ล้านคน

ปี 2005 : จำนวนจิงโจ้ 24.63 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 20.18 ล้านคน

ปี 2006 : จำนวนจิงโจ้ 23.60 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 20.45 ล้านคน

ปี 2007 : จำนวนจิงโจ้ 24 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 20.83 ล้านคน

ปี 2008 : จำนวนจิงโจ้ 25.89 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 21.25 ล้านคน

ปี 2009 : จำนวนจิงโจ้ 27.04 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 21.69 ล้านคน

ปี 2010 : จำนวนจิงโจ้ 25.15 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 22.03 ล้านคน

ปี 2011 : จำนวนจิงโจ้ 34.30 ล้านตัว VS จำนวนประชากรออสเตรเลีย 22.34 ล้านคน

 istock-120113390

ไขสาเหตุ ทำไมออสเตรเลียถึงมีจิงโจ้เยอะ ?

จากตัวเลขที่รัฐบาลออสเตรเลียเปิดเผย เราจะเห็นได้ว่า จำนวนประชากรจิงโจ้มีมากซะยิ่งกว่าจำนวนประชากรออสเตรเลียซะอีก ทำให้หลายคนอาจตั้งคำถามว่า"เป็นไปได้อย่างไร ที่จำนวนประชากรสัตว์จะมีมากกว่ามนุษย์?"

1.ออสเตรเลีย ประเทศขนาดใหญ่ แต่พื้นที่ส่วนมากกลับเป็นทะเลทราย

คำตอบแรกเราอาจต้องเล่าย้อนไปถึงผืนแผ่นดินทวีป และภูมิศาสตร์ของประเทศออสเตรเลียที่มีขนาดใหญ่ ใหญ่ขนาดที่ว่าประเทศออสเตรเลียมีเส้นเวลาแบ่งของโลกถึง 3 Time Zone ด้วยกัน ซึ่งถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่อันดับ 6 ของโลก มีพื้นที่กว่า 7,692,024 ตร.กม. (ขนาดพื้นที่ประเทศใหญ่เกือบเท่าทวีปยุโรปทั้งหมด ที่มีพื้นที่รวมกว่า 10,180,000 ตร.กม.) แต่บางพื้นที่ตรงกลางของออสเตรเลีย (Outback) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของดินแดนทั้งหมดกลับเป็นพื้นที่ทะเลทราย ที่ประชากรไม่สามารถอยู่อาศัยได้ แต่แน่นอนว่าสัตว์อย่างจิงโจ้ สามารถอยู่อาศัยได้อย่างง่ายดาย

istock-697901510

2.หมาดิงโก ศัตรูคู่ร้ายของจิงโจ้ มีจำนวนลดลงสมัยนักล่าอาณานิคม

หมาดิงโก สุนัขป่าขนสั้น ที่จัดว่าเป็นสัตว์อันตรายชนิดหนึ่งในออสเตรเลีย และเป็นนักล่าขนาดใหญ่ในห่วงโซ่อาหาร โดยนิสัยพื้นฐานของสุนัขป่าจะเกรี้ยวกราดโจมตีใส่มนุษย์และสัตว์อื่นๆจนถึงแก่ความตายได้ด้วย และศัตรูคู่ปรับ อาหารหลักของเจ้าหมาดิงโก นั้นก็คือจิงโจ้ และวัลลาบี

แต่พอนักล่าอาณานิคม ชาวยุโรปเข้ามาตั้งถิ่นฐานราวศตวรรษที่ 19 พวกเขาได้มองว่าหมาดิงโก เป็นภัยร้ายต่อการทำฝูงปศุสัตว์ จึงออกตามล่า และฆ่าหมาดิงโกไปยกใหญ่ จนจำนวนประชากรหมาดิงโกลดลงอย่างน่าใจหาย ทำให้สิ่งที่ตามมาคือ การเปิดโอกาสให้จิงโจ้ได้เพาะพันธุ์ จนสามารถเพิ่มประชากรได้อย่างมากมาย

istock-163183457

ประชากรจิงโจ้ล้นเมือง

ปัญหาจิงโจ้ล้นเมือง กลายเป็นปัญหาระดับชาติที่รัฐบาลกลางออสเตรเลีย ได้แสดงความวิตกกังวลจากจำนวนประชากรจิงโจ้ที่มากเกินพอดี ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาหลายอย่าง เช่น :

  • ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

ชาวออสเตรเลียจำนวนมากมองว่าจิงโจ้เป็นสัตว์รบกวน หรือศัตรูพืช โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำไร่-ทำนา บอกว่า จิงโจ้ทำความเสียหายแก่พืชผลและแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยกับปศุสัตว์บนที่ดินของพวกเขา

เช่น จิงโจ้เป็นสัตว์กินพืช ทำให้จิงโจ้มักกินต้นหญ้า-ผลไม้ ซึ่งออสเตรเลียประเทศที่เลี้ยงวัวเพื่อการเกษตร การลดลงของทุ่งหญ้านั่นหมายถึงการที่วัวไม่มีหญ้ากิน และส่งผลลุกลามไปถึงเศรษฐกิจของประเทศ  

istock-595153368

  • ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน

อุตสาหกรรมประกันภัยของออสเตรเลีย ได้ออกมาเปิดเผยว่า การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จิงโจ้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุรถยนต์ชนสัตว์มากกว่า 80 % จากที่มีรายงานปีละกว่า 20,000 ครั้ง เนื่องจากจิงโจ้ชอบกระโดดตัดหน้ารถยนต์ที่วิ่งอยู่บนถนน

istock-482020686

รัฐบาลออสเตรเลียจัดการกับจิงโจ้ล้นเมืองอย่างไร ?

1.กําจัดอย่างมีมนุษยธรรม ยิงหัว Head Shot ต้องตายทีเดียว

การกําจัดจิงโจ้ ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่โหดร้าย ไร้ความปราณี ทำให้รัฐบาลออสเตรเลีย ได้ออกมาเปิดเผยว่า แม้จะสั่งกําจัด แต่ก็จะกําจัดอย่างมีมนุษยธรรม โดยการกําจัดให้ตายเพียงแค่ลูกกระสุนเดียวผ่านการยิงที่หัว หรือ Head Shot แต่ไม่ใช่ว่าพลเมืองทุกคนสามารถกําจัดจิงโจ้ได้ คนที่สามารถกําจัดจิงโจ้ได้ ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ ที่ผ่านมาฝึกฝนมาเป็นอย่างดี หรือพลเมืองออสซี่ที่มีใบอนุญาติล่าสัตว์เท่านั้น

แต่ถ้าดันไปกําจัดจิงโจ้ตัวที่มีลูก ก็ต้องกําจัดลูกตาม เพราะหากปล่อยไว้ลูกก็จะอดน้ำอดอาหาร จนสุดท้ายตายแน่ๆ ซึ่งรัฐบาลก็ได้กำหนดว่า ต้องทุบหัวลูกให้ตายในทีเดียวเหมือนกัน

istock-478256925_3

โดยระเบียบการล่าก็ออกมาชัดเจน รัฐจะมีโควต้าการล่าของแต่ละปี (จะอยู่ราว 10-20 ล้านตัว) และไม่ใช่ว่านักล่าสามารถกําจัดได้ทุกสถานที่ ที่พบเจอจิงโจ้ แต่ต้องเป็นพื้นที่ที่ทางภาครัฐอนุญาติเท่านั้น เช่นเดียวกันกับ สายพันธุ์ของจิงโจ้ ที่ภาครัฐอนุญาติให้ฆ่าได้แค่ 4 สายพันธุ์เท่านั้น (จาก 70 สายพันธุ์) ได้แก่

  • Red (Macropus rufus)
  • Western Grey (Macropus fuliginosus)
  • Eastern Grey (Macropus giganteus)
  • Wallaroo / Euro (Macropus robustus)

เนื่องจาก 4 สายพันธุ์ นี้ เป็นสายพันธุ์ตัวใหญ่ที่กินเยอะ และขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว

เช่น เดือนตุลาคม 2019 สำนักข่าว CNN ได้รายงานว่า ที่รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ประกาศให้นักล่าที่ได้รับอนุญาตสามารถล่าจิงโจ้เพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ในธุรกิจที่ได้รับอนุญาตได้ โดยนักล่าเหล่านี้จะได้รับอนุญาตให้ล่าจิงโจ้ในพื้นที่และจำนวนที่กำหนด โดยการกำหนดที่ชัดเจนจะทำให้การเก็บเกี่ยวจิงโจ้เป็นไปอย่างยั่งยืน ไม่กระทบต่อสวัสดิภาพของสัตว์อื่นๆ

istock-611184630

2.กินเนื้อจิงโจ้สิ! โปรตีนสูง ไขมันน้อย

เนื้อจิงโจ้ถือเป็นเนื้อที่ดีต่อสุขภาพชนิดหนึ่งเพราะมีมันแทรกเนื้อน้อย รสชาติเหมือนเนื้อวัวแต่มีโปรตีนและธาตุเหล็กสูงกว่า อีกทั้งยังมีแคลอรี่ต่ำกว่า และเป็นแหล่งของโอเมกา 3 ชั้นดี

สำหรับชาวต่างชาติ คงมองว่าคนออสซี่กล้ากินเนื้อจิงโจ้ได้อย่างไร หากจินตนาการภาพน้องจิงโจ้สุดแสนน่ารัก คงไม่สามารถทานลงแน่ๆ แต่จากการสำรวจพบว่าชาวออสซี่เพียงแค่ 14.5% ที่กินเนื้อจิงโจ้มากกว่า 4ครั้ง/ปี

แต่หากเราเคยไปออสเตรเลีย และเดินเล่นตามซุปเปอร์มาร์ตเก็ตเจ้าใหญ่ของออสเตรเลีย เช่น Coles WoolWorths หรือ Aldi หรือตามร้านขายเนื้อต่าง (Butcher Shop) เราจะเห็นเนื้อจิงโจ้ ถูกวางขายเป็นเรื่องปกติ (วางขายคู่กับเนื้อหมู – เนื้อไก่ – เนื้อวัว) บ้างก็ขายเป็นขายเป็นเนื้อสดเพื่อนำไปประกอบอาหารสำหรับคน ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ออสเตรเลียดอลลาร์ หรือราว 230 บาท ส่วนบางผลิตภัณฑ์ก็นำเนื้อจิงโจ้ไปเป็นส่วนผสมหลักของอาหารสัตว์เลี้ยง

โดยรัฐบาลออสเตรเลียได้ออกมารณรงค์ให้ประชาชนกินเนื้อจิงโจ้ให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดประชากรจิงโจ้ในทางหนึ่ง พร้อมกับประชาสัมพันธ์ว่าเนื้อจิงโจ้มีรสชาติดี ปลอดสารเคมี เนื่องจากอาศัยอยู่ตามธรรมชาติและมีธาตุเหล็กสูง

2023110

3.ส่งออกเนื้อจิงโจ้ เคยสร้างรายได้ให้ประเทศทะลุ 900 ล้านบาท

กระทรวงการเกษตรของออสเตรเลีย ได้ออกมาเปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศออสเตรเลีย ได้มีการส่งออกเนื้อจิงโจ้กว่า 3,000 ตัน ไปยัง 60 ประเทศทั่วโลก/ปี ซึ่งกว่า 75% ของปริมาณเนื้อที่ส่งออกถูกใช้เป็นส่วนผสมหลักของอาหารสัตว์เลี้ยง

สำนักข่าว The New York Times ได้มีการคาดการณ์ว่าตลาดการส่งเนื้อจิงโจ้ เคยสร้างเม็ดเงินกว่า 38.4 ล้านออสเตรเลียดอลลาร์ หรือราว 929,800,704 บาท ในการส่งออกเนื้อจิงโจ้กว่า 10,010 ตัน เมื่อปี 2008 ซึ่งตอนนั้นรัสเซียเป็นตลาดใหญ่ ครอบสัดส่วนไปกว่า 58% จนกระทั่งเกิดการระบาดของเชื้อ E.coli ให้ปี 2009 รัฐบาลรัสเซียสั่งประกาศห้ามการนำเข้า-ส่งออกเนื้อจิงโจ้ ทำให้ออสเตรเลียต้องมุ่งไปที่ตลาดยุโรปและจีนแทน

istock-1658861944_1

อ้างอิง

BBC 

American and South Pacific Affairs

Australia Government 

The New York Times  

SILPA MAG

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT