ความยั่งยืน

‘ลานีญา’ กำลังจะมา กระทบอากาศไทยอย่างไร? เตรียมรับมืออย่างไรได้บ้าง?

7 พ.ค. 67
‘ลานีญา’ กำลังจะมา กระทบอากาศไทยอย่างไร? เตรียมรับมืออย่างไรได้บ้าง?

จากอากาศร้อนจัดซึ่งเป็นผลกระทบจากสภาวะ ‘เอลนีโญ’ ปัจจุบันโลกกำลังจะเข้าสู่สภาวะอากาศขั้วตรงข้ามกันคือ ‘ลานีญา’ ซึ่งจะทำให้อากาศเย็นลง และมีฝนตกมากขึ้น 

โดยจากข้อมูลของสำนักอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลีย และ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA ของสหรัฐฯ ปัจจุบัน ภาวะเอลนีโญซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปี 2023 ได้จบลงแล้ว และโลกกำลังเข้าสู่ภาวะเป็นกลางทางอากาศ (neutral) ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมที่จะถึงนี้ 

ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักภาวะเอลนีโญ-ลานีญากันว่าคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะส่งผลอย่างไรต่อสภาพอากาศของไทยในฤดูร้อนนี้บ้าง

รู้จัก ‘ปรากฎการณ์ ENSO’ กลไกการเกิดเอลนีโญ-ลานีญา

ปรากฎการณ์ ENSO หรือที่ย่อมาจาก El Niño–Southern Oscillation เป็นปรากฎการณ์ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของ ‘ลมค้า (Trade Winds)’ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจะพัดจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก หรือจากฝั่งทวีปอเมริกาเหนือและใต้มายังฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย พาผิวน้ำทะเลอุ่นซึ่งอุ่นขึ้นจากแสงอาทิตย์มาสะสมที่แปซิฟิกตะวันตก(เอเชีย) เปิดทางให้กระแสน้ำเย็นจากใต้มหาสมุทรไหลขึ้นมาที่ผิวน้ำในทะเลฝั่งแปซิฟิกตะวันออก(อเมริกา)

น้ำอุ่นที่ถูกพัดมาอยู่ฝั่งอาเซียนและโอเชียเนียจะทำให้อากาศในพื้นที่นี้มีความชื้น ทำให้เกิดเมฆและฝนตก ทำให้พื้นที่เหล่านี้มีแหล่งน้ำที่มีความสมบูรณ์เหมาะกับการทำการเกษตรและปศุสัตว์ ขณะที่ฝั่งอเมริกาใต้จะได้ประโยชน์จากกระแสน้ำเย็นใต้ทะเลที่นำพาธาตุอาหารจากใต้ทะเลขึ้นมาผิวน้ำ ทำให้มีปลาชุกชุม

fhhfdhgzfd_1

ทั้งนี้ หากการเคลื่อนที่ของลมค้าผิดปกติ ไม่ว่าจะเร็วขึ้นหรือช้าลงก็ตาม สภาพอากาศของประเทศใน 2 ฝั่งจะเกิดความผิดปกติ เป็นที่มาของสภาวะเอลนีโญ-ลานีญา

โดยถ้าลมค้าอ่อนกำลังจนเคลื่อนที่ช้ากว่าปกติ จนทำให้ผิวน้ำทะเลอุ่นที่สะสมอยู่ฝั่งอเมริกาไม่ไหลไปฝั่งเอเชีย ก็ทำให้เกิดภาวะ ‘เอลนีโญ’ (El Niño) ซึ่งทำให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลมหาสมุทรฝั่งอเมริกาอุ่นกว่าปกติ เกิดการก่อตัวของเมฆฝน ทำให้บริเวณนั้นเกิดฝนตก ขณะที่ฝั่งอาเซียนและโอเชียเนียจะเจอกระแสน้ำเย็นใต้ทะเลแทน ทำให้เกิดความแห้งแล้ง และอากาศร้อนจัดตามมา

ในทางกลับกัน หากลมค้าพัดแรงกว่าปกติ ผิวน้ำทะเลอุ่นจะถูกพัดมาอยู่ที่ฝั่งเอเชียมากกว่าปกติ และทำให้เกิดภาวะ ‘ลานีญา’ (La Niña) ซึ่งทำให้ฝั่งเอเชียฝนตกมากยิ่งขึ้น จนอาจเกิดเป็นภัยพิบัติทางน้ำขึ้นมาได้ ขณะที่ฝั่งอเมริกาจะแห้งแล้งกว่าเดิม
hfdhdhrd

โลกร้อนทำผลกระทบจากเอลนีโญและลานีญาหนักกว่าเดิม

ปกติแล้วทั้งเอลนีโญและลานีญาเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นทุกๆ 2-7 ปี และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะคงอยู่ประมาณ 9-12 เดือน และไม่จำเป็นว่าหากเกิดเอลนีโญแล้วจะต้องเกิดลานีญาตามมา

อย่างไรก็ตาม หลังจากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน เมื่อเกิดเอลนีโญหรือลานีญาขึ้นจะทำให้สภาพอากาศที่ผิดปกติรุนแรงขึ้นกว่าเดิม คือฝั่งที่แห้งแล้งก็จะแล้งและร้อนมากกว่าปกติ ขณะที่ฝั่งที่ชื้นและฝนตกมากอาจจะต้องเจอภัยธรรมชาติที่รุนแรงกว่าเดิม โดยสาเหตุที่ทำให้ปี 2023 เป็นปีที่ร้อนทำลายสถิติโลกก็คือการเกิดภาวะเอลนีโญควบคู่ไปกับภาวะโลกร้อน

ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นนอกจากจะส่งผลต่อสภาพอากาศแล้ว ยังส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ เพราะเมื่อเกิดเอลนีโญจะทำให้ฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียแล้งจนไม่สามารถปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ได้มากเท่าปกติ ขณะที่สัตว์น้ำฝั่งอเมริกาจะมีสารอาหารน้อยลงเพราะกระแสน้ำเย็นจากด้านล่างไหลขึ้นมาไม่ได้

ลานีญาครั้งนี้จะส่งผลต่อไทยอย่างไร?

เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปรากฎการณ์ลานีญาที่กำลังจะเกิดขึ้นจะทำให้อากาศเย็น และเกิดฝนตกมากขึ้นในประเทศไทย โดยสภาวะลานีญาจะพัฒนาตัวขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมพร้อมกับพื้นที่อื่นๆ 

ทั้งนี้ กรมอตุนิยมวิทยาของไทย กล่าวว่าภาวะลานีญาที่เกิดขึ้นในปีนี้จะไม่ส่งผลรุนแรงต่อประเทศไทย แต่จะเป็นตัวการหนึ่งที่เสริมให้ฝนตกแรงขึ้นและกินพื้นที่กว้างขวางในหลายภูมิภาค โดยคาดว่าฤดูฝนจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม และปริมาณฝนตกทั้งปีจะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยปกติและใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

จากการวิเคราะห์ของธนาคารกรุงศรีฯ มีแนวโน้มที่ไทยจะเผชิญภาวะลานีญาตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ส่งผลให้ปริมาณฝนเกิดขึ้นมากกว่าปกติ ซึ่งเมื่อประกอบกับอิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อนที่คาดว่าจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคมของทุกปี ประเทศไทยอาจะต้องเผชิญฝนตกชุก ส่งผลให้ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้

อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีฯ มองว่าความเสี่ยงน้ำท่วมเป็นวงกว้างโดยรวมยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากปริมาณฝนที่ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปีจากภาวะเอลนีโญจะทำให้ปริมาณน้ำฝนสะสมทั้งปีกลับมาอยู่ระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย ทำให้ความเสียหายยังคงจำกัดเฉพาะพื้นที่ท่วมซ้ำซากโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ซึ่งจะสร้างความเสียหายเพิ่มเติมแก่เกษตรกรต่อจากภัยแล้งในช่วงต้นปี 

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีได้ประเมินพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ภายใต้การจำลองสถานการณ์และประเมินผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกเป็น 3 ฉากทัศน์ ดังนี้

  • กรณีฐาน (Base case) จะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 1.7 ล้านไร่ มูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 260 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้าเกษตรเสียหาย 4.2 พันล้านบาท หรือส่งผลให้ GDP ลดลง -0.025% จากกรณีปกติ 
  • กรณีเลวร้าย (Worse case) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 1.3 ล้านไร่ มูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 195 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้าเกษตรเสียหาย 3.2 พันล้านบาท คิดเป็นความเสียหายต่อ GDP ที่ -0.019%
  • ​กรณีเลวร้ายที่สุด (Worst case) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 0.9 ล้านไร่ มูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 130 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้าเกษตรเสียหาย 2.1 พันล้านบาท คิดเป็นความเสียหายต่อ GDP ที่ -0.012%

ทั้งนี้ ขนาดของผลกระทบต่อ GDP ขึ้นอยู่กับ 1) ปริมาณน้ำฝนและการบริหารจัดการน้ำ 2) พื้นที่ที่เกิดอุทกภัย 3) ตำแหน่งที่ตั้งหน่วยเศรษฐกิจ (ครัวเรือน โรงงาน พื้นที่เกษตร)

ดังนั้น หากพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยอยู่ในบริเวณที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูง เช่น เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม แหล่งพื้นที่เกษตรที่สำคัญ หรือเส้นทางคมนาคมสำคัญได้รับความเสียหาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่อุปทานการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งทำให้ความเสียหายต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้น



 

อ้างอิง: Thai-Glob, NOAA, Krungsri

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT