ผู้ประกอบการมึนแผง แผงโซล่าเซลล์ ราคาพุ่งหลังวัตถุดิบพาเหรดขึ้นราคา

21 มิ.ย. 64

แผงโซล่าเซลล์ สมาคมฯผู้ประกกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์เผยแนวโน้มติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปยังโตต่อเนื่อง หลังพิษโควิด-19 หนุนคนทำงานที่บ้านเพิ่ม(WFH) เพิ่มและภาคการผลิตต้องการพลังงานสะอาด แต่หวั่นชะลอตัวหลังต้นทุนแผงโซลาร์ฯขยับเหตุราคาวัตถุดิบตลาดโลกพาเหรดขึ้นยกแผงทั้งเหล็ก อะลูมะเนียม กระจก เกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด

นายพลกฤต กล่ำเครือ นายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า การติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) ขณะนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 20-30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะจากบ้านที่อยู่อาศัยเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ตั้งแต่ระยะที่1-3 ส่งผลให้การทำงานที่บ้าน(Work from Home) ของประชาชนมีอัตราเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้ประชาชนต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามสิ่งที่กังวลและต้องติดตามใกล้ชิดคือต้นทุนแผงโซลาร์ฯที่เริ่มขยับต่อเนื่องจากราคาวัตถุดิบในการผลิตแผงตลาดโลกมีราคาสูง

“ กังวลว่าต้นทุนแผงโซลาร์ฯที่สูงอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต เพราะขณะนี้ราคาเหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม กระจก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของแผงโซลาร์ฯ และการติดตั้งล้วนมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากจีนที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นแต่การผลิตในจีนกลับลดลงจากการปิดโรงงานตามนโยบายการลดมลพิษจึงกระทบเป็นห่วงโซ่ โดยราคาแผงโซลาร์ฯเฉลี่ยที่ผ่านมามีการปรับเพิ่มขึ้น 7-10% ซึ่งหากต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตแผงโดยเฉพาะกระจก และอะลูมิเนียมที่ทำกรอบสูงขึ้นต่อเนื่องก็จะมีผลต่อราคาแผงให้ยังคงขยับราคาเพิ่มได้อีก ดังนั้นจึงต้องติดตามใกล้ชิด”นายพลกฤตกล่าว

อย่างไรก็ตามหากมองทิศทาง(เทรนด์)อนาคตพลังงานสะอาดอย่างโซลาร์ฯจะเป็นคำตอบให้กับภาคธุรกิจมากขึ้นหลังจากที่กติกาการค้าโลกเริ่มมุ่งเน้นแนวทางการลดโลกร้อน รวมไปถึงการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ที่จะมีมากขึ้นการมองหาที่ชาร์จไฟฟรีที่บ้านโอกาสจะเป็นคำตอบมากสุดด้วยการติดตั้งโซลาร์ฯแล้วสำรองไว้ใช้ยามกลางคืนแต่ทั้งนี้จะต้องรอการพัฒนาแบตเตอรี่ที่สมบูรณ์แบบซึ่งขณะนี้หลายฝ่ายได้เร่งวิจัยและพัฒนาที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นแล้ว

นายนิเวช บุญวิชัย อุปนายกสมาคมฯกล่าวว่า การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปทั้งในส่วนของประชาชนทั่วไป และโรงงานอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเพราะทุกภาคส่วนต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ประกอบกับประสิทธิภาพของแผงโซลาร์ฯให้กำลังการผลิตมากขึ้นกว่าอดีตเมื่อเทียบต่อแผง ประกอบกับมาตรการรัฐที่ส่งเสริมทั้งการเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเหลือใช้จากโซลาร์ภาคประชาชนมาเป็น 1.68 บาทต่อหน่วย การปรับลดอัตราค่าตรวจสอบไฟฟ้า ฯลฯ แต่ยอมรับว่าราคาแผงโซลาร์ฯที่สูงขึ้นอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตที่ยังคงต้องติดตามใกล้ชิด

“ช่วงกลางปีที่แล้วราคาแผงต่ำมากแต่จากนั้นได้ปรับขึ้นต่อเนื่องโดยราคาแผงเฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ราว 9-10 บาทต่อวัตต์ปรับขึ้นมาราว 10% แต่มองว่าเทรนด์โรงงาน ห้างร้าน ที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายจะมีการติดตั้งมากขึ้นโดยดูจากสัญญาณที่เริ่มมาเนื่องจากบางคนมองว่าค่าไฟฟ้าฐานจะมีการปรับเปลี่ยนและทิศทางค่าไฟปกติที่ซื้อจากการไฟฟ้าจะมีอัตราเพิ่มขึ้น “นายนิเวชกล่าว

อย่างไรก็ตามล่าสุดกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้ออกประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์รูฟท็อปสำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2564 มีปริมาณรวม 50 เมกะวัตต์ในอัตรา 1 บาทต่อหน่วยนั้นเห็นว่ามีส่วนจูงใจสำหรับสถานประกอบการดังกล่าวมากขึ้น แต่ในแง่ของโรงงานเองมุ่งเน้นที่จะผลิตมาเพื่อใช้เป็นหลักอยู่แล้ว

advertisement

Powered by Positioning

คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด