กรณีกระแสผู้ใช้ TikTok ที่พากันโพสต์เมนู “หมึกช็อต” เอาใจเหล่าสาวกซีฟู้ดและสายซาชิมิ จึงกลายเป็นที่ถกเถียงว่าเป็นการทรมานสัตว์ และไม่สะอาดหรือไม่ แต่บางคนก็มองว่าเป็นเมนูธรรมดา เพราะต่างจากซาชิมิ เพียงแค่นำหมึกตัวเล็ก สด ๆ เอาหัวจุ่มลงไปในแก้วที่ใส่น้ำจิ้ม เพื่อให้หมึกดูดเอาน้ำจิ้มซีฟู้ดเข้าตัวเท่านั้น
จากนั้นก็แค่กัดหมึกส่วนหัว แล้วค่อย ๆ กัดส่วนลำตัวต่อ หรือหากหมึกตัวเล็กพอ ก็อาจจะเอาเข้าปากทั้งตัวก็ได้ แต่ทว่าพฤติกรรมการกินดังกล่าวอาจจะเสี่ยงได้รับเชื้ออหิวาต์เทียม หรือ Vibrio parahaemolyticus ที่เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ตามโคลนตมในทะเล หรือตามชายฝั่งต่าง ๆ เมื่อกินสัตว์ทะเลที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ก็จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย มีอาการอาหารเป็นพิษ หากรุนแรงมาก ๆ ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบได้อีกด้วย
เฟซบุ๊ก หมอแล็บแพนด้า ออกมาแสดงความเห็นว่า “กินหมึกสด ๆ หรือ หมึกช็อต ระวังเชื้อโรคและพยาธินะค้าบ ถ้าเรากินอาหารทะเลที่สด ๆ และยังไม่ได้ปรุงสุก ระวังจะเจอเชื้ออหิวาต์เทียม หรือวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เป็นโรคท้องร่วง ท้องเสีย อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง หรือมีอาการปวดศีรษะและหนาวสั่น อาการพวกนี้จะเกิดขึ้นหลังจากกินอาหารทะเลสด ๆ ในช่วง 12-24 ชั่วโมง
นอกจากเชื้อโรคแล้ว ยังมีโอกาสเจอพยาธิอะนิซาคิส (Anisakis) หน้าตาคล้าย ๆ ไส้เดือน ตัวเล็กประมาณ 2-5 ซม. พยาธิมันอาจจะชอนไชไปตามทางเดินอาหาร แล้วอยู่ในลำไส้ หลังจากได้กินพยาธิไป 1 ชั่วโมง จะมีอาการปวดท้อง ปวดกระเพาะอาหาร ลำไส้อุดตัน คลื่นไส้อาเจียน เข้าใจว่าหมึกสด ๆมันน่าจะหวานอร่อย แต่ถ้ามันไม่สุกก็อาจจะติดเชื้อหลายอย่างได้นะคร้าบ”
ล่าสุดวันที่ 11 ก.พ.65 ผศ. ดร. ณัธคพัชฬ รัตนพิทูลย์ นักวิจัยศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่า สำหรับหมึกช็อตที่กำลังเป็นกระแสโซเชียลฯ ความอันตรายสำหรับการกินหมึกดิบสด ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นพยาธิกลุ่มอะนิซาคิส (Anisakis simplex) หรือเป็นพยาธิตัวกลม ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน โดยตัวพยาธิจะทำไชกระเพาะอาหารทำให้มีอาการดังกล่าวได้
โดยจะส่งผลทันทีหลังกินอาหารจำพวกหมึก และปลาทะเล ประมาณ 1-2ชั่วโมง ส่วนกรณีการเสียชีวิตจากพยาธิตัวดังกล่าว ยังพบน้อยมาก เพราะการกินแล้วเกิดพยาธิดังกล่าวอาจจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียตัวอื่นที่เข้ามาสะสมทางร่างกาย และทำให้เสียชีวิต ส่วนการรักษาต้องส่องกล้องคีบพยาธิออกมาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากเชื้อแบคทีเรียแล้ว หมึกหรือสัตว์ทะเลอื่น ๆ เช่น กุ้ง หอย ก็อาจจะมีพยาธิอาศัยอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นพยาธิตัวกลม ในกลุ่มพยาธิอะนิซาคิส (Anisakis simplex) พยาธิตัวตืดในกลุ่มพยาธิตืดปลา (Diphyllobothrium) เป็นพยาธิที่พบในปลาทะเลเขตอบอุ่น และเขตร้อน ซึ่งในประเทศไทยตรวจพบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ในปลามากกว่า 20 ชนิด ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับพยาธิ มีอาการปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด คล้ายกับอาการของโรคกระเพาะอาหาร บางรายอาจมีอาการท้องเสีย
ทั้งนี้ ถ้ามีแผลในกระเพาะขนาดใหญ่ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด รวมถึงอาจทำให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายอื่น ๆ เช่น เข้าไปอาศัยตามกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดผื่นคัน ปวดบวมบริเวณผิวหนัง หรือเข้าไปชอนไชทำลายอวัยวะภายใน ทำให้เลือดออกในช่องท้อง หรือเนื้อเยื่อ หรือในกรณีที่รุนแรงกว่านั้น คือ การไชเข้าสมองก่อให้เกิดอาการเลือดออกในสมอง สมองอักเสบ และส่งผลเสียกับร่างกายในระยะยาวได้
ทั้งนี้ การป้องกันพยาธิหรือไข่พยาธิเข้าสู่ร่างกาย หลีกเลี่ยงการกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หากปรุงประกอบอาหารเอง ก่อนนำวัตถุดิบมาปรุง ต้องล้างน้ำให้สะอาดเพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโรค สารเคมีตกค้าง และต้องปรุงให้สุกโดยใช้ความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส นาน 2 นาที เพื่อให้อาหารสุกอย่างทั่วถึง ที่สำคัญยึดหลักกินร้อน ใช้ช้อนส่วนตัว ล้างมือ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ
Advertisement