สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันวิสาขบูชา 2567 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันวิสาขบูชา วันพุธ ที่ 22 พฤษภาคม 2567 ความว่า
“ดิถีวิสาขบูชา คล้ายดิถีประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง ควรที่พุทธบริษัททั้งหลาย จักได้พร้อมเพรียงกันบำเพ็ญบุญกิริยา กระทำสักการบูชาพระรัตนตรัยเป็นกรณีพิเศษ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงถึงพร้อมด้วยพระบริสุทธิคุณ ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง และทรงถึงพร้อมด้วยพระมหากรุณาคุณ สั่งสอนเวไนยสัตว์ให้บรรลุถึงสุขประโยชน์ ตามควรแก่ธัมมานุธัมมปฏิบัติได้ ทั้งนี้ ก็ด้วยพระปัญญาคุณ จึงควรที่สาธุชนทั้งหลาย จักได้มุ่งมั่นเจริญ “ไตรสิกขา” ตามรอยพระบาทของพระบรมศาสดา เพื่อความสมบูรณ์พร้อมด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา บนวิถีแห่งอริยมรรค ขอจงอย่าประมาทมัวเมา เผลอปล่อยเวลาในชีวิตให้ล่วงผ่านไปเปล่าดาย โดยปราศจากการอบรมเจริญไตรสิกขา หากแต่ควรตระหนักไว้เสมอว่าชีวิตมนุษย์เป็นของน้อย มรณภัยอาจมาถึงได้ทุกขณะ ไม่จำกัดเฉพาะแต่เมื่อถึงวัยแก่เฒ่าแต่เท่านั้น ถ้าปล่อยขณะให้ผ่านไปโดยปราศจากศีล สมาธิ และปัญญา ชีวิตนี้ก็นับว่าไร้ค่า น่าเสียดาย เพราะฉะนั้น การระลึกถึงความตาย หรือการเจริญ “มรณัสสติ” จึงนับเป็นมงคล เป็นเหตุนำมาซึ่งความเจริญ มิใช่เรื่องน่าหดหู่เศร้าหมอง หากแต่เป็นเครื่องช่วยระงับความโลภ ความโกรธ และความหลงให้สงบลง ทั้งยังช่วยปลุกเร้าจิตใจให้เบิกบานหาญกล้าที่จะบำเพ็ญคุณความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เมื่อบุคคลรู้จักปล่อยวางจากการยึดถือสิ่งทั้งปวงว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา บุคคลนั้นย่อมประสบสันติในใจตนเอง และย่อมแผ่ขยายอานุภาพ ไปเกื้อกูลสันติภาพในครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติได้ต่อไป
ดิถีวิสาขบูชาปีนี้ จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชน ตั้งปณิธานให้แน่วแน่ ในอันที่จะพัฒนาตนเองตามหลักไตรสิกขา ให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเปิดโอกาสให้สันติสุขที่แท้จริง มาสถิตในจิตใจตนและในสังคม สมด้วยพระพุทธานุศาสนีที่ว่า “กาลทั้งหลาย ย่อมล่วงไป ราตรีทั้งหลาย ย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัย ย่อมละลำดับไป บุคคลเมื่อเห็นภัยนี้ในมรณะ พึงละอามิสในโลกเสีย มุ่งสันติเถิด”
จิรํ ติฏฺฐตุ สทฺธมฺโม ธมฺเม โหนฺตุ สคารวา. ขอพระสัทธรรมจงดํารงคงมั่นอยู่ตลอดกาลนาน และขอสาธุชนทั้งหลาย จงมีความเคารพในพระธรรมนั้น เทอญ.”
Advertisement