วันที่ 15 เม.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชิษณุพงษ์ อำภิน อายุ 30 ปี พร้อมด้วย น.ส.ชนาภา มั่นอ่วม อายุ 30 ปี ชาวอำเภอวัดสิงห์ จ.ชัยนาท พ่อและแม่ของน้องนะโม อายุ 11 ขวบ ซึ่งเป็นผู้พิการซ้ำซ้อนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องอาศัยรับอาหารเหลวทางสายยาง โดยต้องสวมใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งตัวพ่อแม่ของน้องนะโมมีอาชีพค้าขายผลไม้ตามฤดูกาลอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19อย่างหนัก เพราะในแต่ละวันแทบจะขายของไม่ได้ เหลือเงินในบัญชีตอนนี้ 2 บาท
ต่อมาจึงลงทะเบียนโครงการเราไม่ทิ้งกัน ด้วยความหวังว่าจะได้เงินมาซื้ออาหารและผ้าอ้อมสำเร็จรูปไว้ให้ลูกที่พิการกับลูกสาวคนเล็ก แต่ก็ต้องผิดหวังอย่างที่สุด เพราะผลลงทะเบียนแจ้งว่าเป็นนักศึกษา
น.ส.ชนาภา อำภิน คือหนึ่งในครอบครัวที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล บอกว่า เดิมนั้นตนเองเรียนจบกศน.มาหลายปีแล้ว และก็ทำอาชีพค้าขายกับสามี ด้วยการรับผลไม้จากเกษตรกรแถวบ้านในจ.ชัยนาท มาขาย อีกทั้งยังมีลูก 2 คนที่ต้องดูแล และลูกคนโตของตนเองก็เป็นเด็กพิการซ้ำซ้อน ต้องพามารักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพทุกๆ 6 เดือน และทุกครั้งที่ตนเองพาลูกชายมาหาหมอ ก็จะนำผลไม้ติดรถมาขายที่กรุงเทพฯ เพื่อหารายได้ไปในตัว
โดยค่าใช้จ่ายภายในบ้านต่อเดือนเฉลี่ยตกเดือนละ 10,000 บาท ซึ่งตนเองจะต้องค่าผ่อนรถ 3,500 บาท ค่าผ่อนชำระหนี้นอกระบบเดือนละ 500-1,000 บาท อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายดูแลลูกที่พิการ 6,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมารายได้ที่ได้รับมาก็ต้องใช้จ่ายในบ้านแบบพอดีตัว แต่เมื่อมาประสบปัญหาสภานการณ์โควิด ตนเองก็ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดได้ เพราะถึงกลับไปก็ต้องถูกกักตัว 14 วัน จะทำให้ขาดรายได้
จึงตัดสินใจอยู่ที่กรุงเทพ และหาซื้อผลไม้ตามตลาดขายส่งมาขายเพื่อหารายได้ และได้ลงทะเบียนขอเงินช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล แต่กลับถูกแจ้งกลับมาว่าไม่มีสิทธิได้รับ ทำให้ตนเองรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม และมองว่าการที่รัฐบาลแบ่งเกณฑ์ ตามอาชีพนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จึงอยากให้รัฐบาลช่วยตรวจสอบข้อมูลของประชาชนให้ละเอียดมากกว่านี้
Advertisement