ทั้งนี้ เป็นปัญหาที่ภาคปศุสัตว์ทั่วโลกกำลังประสบอยู่ โดยเฉพาะราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา ลาว เวียดนาม ที่ราคาปรับขึ้นไปอยู่ในระดับ 11.20-12.20 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 10 กว่าปี ขณะที่จีนราคาสูงถึง 12.80 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนประเทศไทยเคยมีราคาสูงถึง 12.50 บาทต่อกิโลกรัม กลายเป็นต้นทุนสะสมที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปี 64 ที่ผ่านมาผู้เลี้ยงต้องประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก จากการขายหมูต่ำกว่าต้นทุนเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องโรค กระทั่งเคยขายสุกรราคาต่ำสุดเพียง 50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนสูงถึง 80 บาท เป็นการซ้ำเติมภาวะขาดทุนจากที่ต้องแบกรับมาตลอด 3 ปี เพื่อประคับประคองอาชีพเดียวนี้ไว้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้เลี้ยงสุกรในภาคเหนือหายไปจากระบบแล้วมากกว่า 50% จากผลกระทบของโรคในหมูและภาวะขาดทุนสะสม ทำให้ต้องหยุดเลี้ยงหมูปล่อยเล้าว่างเพื่อรอดูสถานการณ์ ส่วนกษตรกรที่ยังเดินหน้าเลี้ยงต่อไปต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้น จากราคาวัตถุดิบที่พุ่งไม่หยุดทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลืองนำเข้า และปลายข้าว ซึ่งวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นต้นทุนหลักคิดเป็น 60-70% ของการเลี้ยงสัตว์ รวมถึงต้องยกระดับระบบป้องกันโรคให้เข้มแข็งขึ้นทำให้มีต้นทุนเพิ่มเกือบ 500 บาทต่อตัว รวมถึงยังต้องเตรียมเงินทุนจำนวนมาก เพื่อปรับเข้าสู่ระบบมาตรฐานทั้ง GFM และ GMP
อนึ่ง การบริโภคของประชาชนในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากห้างร้านต่างๆ กลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติ ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวในช่วงก่อนนี้ โรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอน และยังเข้าสู่ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ส่งผลในเชิงจิตวิทยาทำให้คนเริ่มออกมาจับจ่ายมากขึ้น สวนทางกับปริมาณผลผลิตสุกรขุนลดลงมากกว่า 30% ราคาสุกรจึงเป็นไปตามกลไกตลาด โดยพบว่าประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาขาดแคลนสุกรระดับราคาต่างปรับขึ้นต่อเนื่อง อาทิ จีนราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 90-103 บาทต่อกิโลกรัม และฟิลิปปินส์ ราคา 137-147 บาทต่อกิโลกรัม
ในส่วนของเกษตรกรจึงขอความเห็นใจในปัญหาที่ต้องเผชิญกับภาวะราคาหมูตกต่ำมานานกว่า 3 ปี ขอให้กลไกตลาดได้ทำงานเสรี เพื่อให้สามารถไปต่อในอาชีพนี้ได้ ขณะที่ประชาชนยังมีทางเลือกบริโภคอาหารอื่นทดแทน ทั้งปลา ไข่ ไก่ ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริง
ด้าน พาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบราคาเนื้อหมูตามเขียงหมู พบร้านที่เข้าร่วมโครงการยังขายในราคาปกติ ไม่แพงเกินไป หมูแดง 130-150 บาท/กก.ขณะแม่ค้าคาดปีใหม่นี้น่าจะมีการปรับราคาขึ้น หากฟาร์มหมูปรับขึ้นราคาหมูเป็น
นายสุทธิศักดิ์ พรหมบุตร พาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อม จนท.การค้าภายในจังหวัด เข้าตรวจสอบแผงจำหน่ายหมูสด ที่ตลาดไนท์บาร์ซาร์ อ.เมือง บุรีรัมย์ หลังมีประชาชน ร้องเรียนว่าราคาเนื้อหมูแพงเกินจริง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการของกระทรวงพาณิชย์ ยังขายตามราคาที่กำหนด คือเนื้อแดง ขาย กก.ละ 130-150 บาท ตามแต่ละชนิด ถือว่าเป็นราคาตามกลไกของตลาด
สำหรับเนื้อหมูที่ราคาแพง ส่วนใหญ่จะเป็นแผงหมูชั่วคราว เพราะอาจจะซื้อหมูเป็นมาในราคาแพง เนื่องจากมีการแย่งซื้อหมูเป็นมาชำแหละขาย ซึ่งได้เข้าไปตรวจสอบและกำชับแผงขายเนื้อหมูเหล่านี้แล้ว ว่าให้ขายในราคาเป็นธรรม
นายสุทธิ์ศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากจะตรวจสอบราคาเนื้อหมูแล้ว ยังต้องตรวจสอบสินค้าชนิดอื่น โดยเฉพาะกระเช้าของขวัญ ที่ไม่ติดป้ายชนิดสินค้าและราคาให้ชัดเจน รวมถึงสินค้าที่ใกล้จะหมดอายุ กลุ่มนี้หากตรวจพบ จะทำการเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายทันที
ขณะที่ นางแสงจันทร์ แซ่โหว้ง อายุ 50 ปี แม่ค้าขายหมูสดที่ตลาดไนท์บาร์ซาร์ บอกว่า ที่ผ่านมาจะขายตามราคาที่การค้าภายในกำหนด เพื่อให้ลูกค้าซื้อหมูในราคาที่เป็นธรรม แต่คาดว่าปีใหม่นี้น่าจะปรับราคาขึ้นตามกลไกของตลาด เพราะฟาร์มหมู ได้แจ้งจะปรับราคาหมูเป็นมาแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- แก้ หมูแพง! พาณิชย์ ตั้งแผง 600 จุดทั่วประเทศ ขาย หมูเนื้อแดง โลละ 130 บาท
- เพื่อไทย ซัด ประยุทธ์ ไร้น้ำยาแก้ปัญหา ศก. ดักคอ หมูแพง อย่าสั่งทหารไปเลี้ยงหมูอีก
- หมูแพง อีกแล้ว! กิโลฯ ละ 180 หวั่นร้านอาหารฉวยโอกาสขึ้นราคาช่วง เปิดเมือง
Advertisement