สีบนสายคาดเอว "ยูโด" มีความหมายอย่างไร และบ่งบอกถึงอะไร

19 เม.ย. 62
ยูโด เป็นศิลปะการป้องกันตัวประเภทหนึ่งที่ถือกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น โดยคะโน จิโงะโร ซึ่งมีชื่อเต็มว่า โคโดกัง ยูโด เดิมเรียกว่า ยูยิสสู เป็นวิชาที่สามารถต่อสู้กับคู่ต่อสู้ที่มีอาวุธด้วยมือเปล่า ยูโดในปัจจุบันเป็นกีฬาสากลประเภทบุคคล มีหลักการและวัตถุประสงค์คือ มุ่งบริหารร่างกายและจิตใจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยใช้แรงให้น้อยที่สุด เพื่อสวัสดิภาพและประโยชน์สุขร่วมกัน การฝึกยูโดต้องมีการฝึกการต่อสู้และป้องกันตัว ก็เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกได้ออกแรง ซึ่งเป็นหนทางก่อให้เกิดสมรรถภาพทางกายตามอุดมคติของท่านคะโน จิโงะโร ผู้ให้กำเนิดกีฬาประเภทนี้ว่า "Maximum Efficiency with minimum Effort and Mutual Welfare and Benefit" คือยูโดใช้วิธีการโอนอ่อนผ่อนตาม หรือที่เรียกว่า "ทางแห่งความสุภาพ" "Gentleness or soft way" ทำให้ได้เปรียบแก่ผู้ที่มีกำลังมากกว่า เป็นวิธีการที่ทำให้คนตัวเล็กกว่าน้ำหนักน้อยกว่าและกำลังด้อยกว่า สามารถต่อสู้กับผู้ที่อยู่ในลักษณะเหนือกว่าได้
ปรมาจารย์ คะโน จิโงะโร
ระดับความสามารถมาตรฐานของนักยูโดทั้งสองเพศ (ชาย-หญิง) ได้ถูกกำหนดขึ้นโดยมีสีของสายคาดเอวเป็นเครื่องหมาย ระดับความสามารถมาตรฐานดังกล่าวแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับใหญ่ คือ 1. ระดับคิว (Kyu) คือระดับก่อนสายดำที่อาจเรียกว่า นักเรียน 2. ระดับดั้ง (Dan) คือระดับที่เรียกว่า ผู้นำ เป็นผู้ซึ่งมีความสามารถสูง ทั้งระดับนักเรียนและระดับผู้นำนี้ยังแบ่งออกเป็นระดับย่อยๆลงอีก โดยมีสีประจำแต่ละระดับไว้ซึ่งแต่ละประเทศกำหนดไม่เหมือนกัน ซึ่งการกำหนดระดับของนักยูโดในประเทศไทยกำหนดไว้ดังนี้ 1. รองสายดำ ชั้น 5 สายคาดเอวสีขาว 2. รองสายดำ ชั้น 4 สายคาดเอวสีเขียว 3. รองสายดำ ชั้น 3 สายคาดเอวสีฟ้า 4. รองสายดำ ชั้น 2 สายคาดเอวสีน้ำตาล 5. รองสายดำ ชั้น 1 สายคาดเอวสีน้ำตาลปลายดำ 6. สายดำ ชั้น 1 สายคาดเอวสีดำ 7. สายดำ ชั้น 2 สายคาดเอวสีดำ 8. สายดำ ชั้น 3 สายคาดเอวสีดำ 9. สายดำ ชั้น 4 สายคาดเอวสีดำ 10. สายดำ ชั้น 5 สายคาดเอวสีดำ 11. สายดำ ชั้น 6 สายคาดเอวสีขาวสลับแดง 12. สายดำ ชั้น 7 สายคาดเอวสีขาวสลับแดง 13. สายดำ ชั้น 8 สายคาดเอวสีขาวสลับแดง 14. สายดำ ชั้น 9 สายคาดเอวสีแดง 15. สายดำ ชั้น 10 สายคาดเอวสีแดง นอกจากวิชาต่างๆ ที่ต้องฝึกแล้ว ยูโดยังเป็นวิชาแห่งความสุภาพอ่อนโยน และห้องฝึกยูโดนั้นเป็นที่รวมของผู้ที่สนใจต่อความสุภาพ นอกจากนั้นห้องฝึกยูโดยังเป็นที่สำรวมร่างกายและจิตใจ ผู้ที่เข้าไปในห้องฝึกยูโดจึงควรสำรวมกิริยาวาจาให้สุภาพและเหมาะแก่สถานที่ เช่น ไม่พูดเสียงดังเกินไป ไม่กล่าวคำหยาบคาย ไม่ตลกคะนอง ไม่สูบบุหรี่ ไม่สวมรองเท้าขึ้นไปบนเบาะยูโด เป็นต้น ระหว่างการฝึกซ้อม หรือฟังคำบรรยายจากครูอาจารย์ควรฟังด้วยความเคารพ นอกจากนั้นควรเคารพเชื่อฟังคำแนะนำของครูอาจารย์ และปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของห้องฝึกที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งระเบียบประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม กับทั้งเป็นการอบรมนิสัย มารยาทและจิตใจของตนเอง

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม