ลูกชายโดนเพื่อนรุมบูลลี่ ผูกคอดับ ผลสำรวจพบเด็กกว่า 91% เคยโดนเพื่อนกลั่นแกล้ง

10 มี.ค. 63
พ่อสุดช้ำใจ ลูกชายคนเล็กกับภรรยาเก่า ฆ่าตัวตาย หลังถูกเพื่อนในโรงเรียนบูลลี่ (กลั่นแกล้งรังแก) รวมทั้งโพสต์เรื่องราว เตือนสติสังคมไทยผ่านเฟซบุ๊กหยุดการบูลลี่ เพื่อลดการสูญเสีย กรณี ผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่ง ได้โพสต์รูปและระบุข้อความว่า วันที่ 5 มีนาคม เวลา 17.30 น. น้องมาร์ค ผูกคอตายเพราะถูกเพื่อนบูลลี่ ต่างๆ นานาอยากถามว่าการบูลลี่ แล้วสุดท้ายได้อะไร คุณอาจจะได้ความสุขแต่อีกหลายๆ คนต้องจมอยู่กับความทุกข์ของการบูลลี่ ของคุณ คุณคิดได้หรือเปล่าว่าการกระทำแบบนี้ส่งผลดีหรือผลเสียความสุขของใครหลายๆ คน คือความทุกข์ของคนๆ หนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการติด #หยุดบูลลี่ ทิ้งท้าย นายมิ่งมิตร เทียมลม พ่อของน้องมาร์ค บอกกับทีมข่าวว่า เรื่องราวดังกล่าว ภรรยาคนปัจจุบันของตนเป็นคนโพสต์ เพื่อสะท้อนถึงปัญหาการใช้ความรุนแรง การลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาให้สังคมรับรู้ สำหรับ น้องมาร์ค เป็นลูกชายคนเล็กของตนกับภรรยาเก่า ที่เลิกรากันไป และไม่ได้ติดต่อกันตั้งแต่ปี 2557 โดยตนรับทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น จากลูกชายคนกลาง ซึ่งยังติดต่อกัน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมาว่า น้องมาร์ค ผูกคอตาย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยไม่มีใครยอมบอกสาเหตุของปมการคิดสั้น และตนก็ไม่ได้ไปร่วมงานศพของลูก เพราะฝ่ายภรรยาเก่าที่อยู่ในอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้เผาศพไปแล้ว ก่อนลูกชายคนกลางจะแจ้งข่าวให้ทราบ ตนจึงตัดสินใจค้นหาความจริง จนได้พบเจอเฟซบุ๊กของน้องมาร์ค ที่ลูกชายคนเล็ก ได้โพสต์ภาพจดหมายลาตาย และแชทของเพื่องลูกชาย ที่บอกว่าลูกถูกเพื่อนบูลลี่ ด้วยการไม่เล่นและไม่ทำงานร่วมกับน้อง ส่วนข้อมูลอื่นๆ นั้น ตนเองไม่สามารถรับรู้ได้ หัวอกคนเป็นพ่อ รู้สึกเสียใจ และทำใจไม่ได้ที่ลูกชายวัย 10 ขวบ ต้องจบชีวิตเพราะการถูกกระทำแบบนี้ สิ่งที่ตนทำได้ คือการทำบุญไปให้ลูกและโพสต์เฟซบุ๊กเตือนสติสังคม รวมทั้งอยากทั้งผู้ปกครองและโรงเรียน ควรใส่ใจบุตรหลานและเด็กนักเรียนให้เพิ่มมากขึ้น ป้องการการรุมรังแก -การประนามกัน เพราะเด็กแต่ละคนมีความคิดที่หลากหลายและไม่เหมือนกัน เพื่อไม่ให้เกิดการบูลลี่ และนำมาซึ่งความสูญเสียซ้ำ ขณะที่ อธิวัฒน์ เนียมมีศรี เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ได้เปิดเผยผลสำรวจ ความคิดเห็น เรื่อง บูลลี่ การกลั่นแกล้ง ความรุนแรงในสถานศึกษาในกลุ่มเด็กอายุ 10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน โดยกรมสุขภาพจิต เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างนักเรียน 1,500 คน พบว่า ร้อยละ 91.79 เคยถูกบูลลี่ วิธีที่ใช้บูลลี่ อันดับ 1 คือ การตบหัว ร้อยละ 62.07 รองลงมา ล้อบุพการี ร้อยละ 43.57 พูดจาเหยียดหยาม ร้อยละ 41.78 ผลกระทบจากการบูลลี่ ผู้ที่ถูกกระทำ คิดจะโต้ตอบเอาคืน ร้อยละ 42.86 รองลงมา เกิดความเครียด ร้อยละ 26.33 ไม่มีสมาธิกับการเรียน ร้อยละ 18.2 ไม่อยากไปโรงเรียน ร้อยละ 15.73 เก็บตัว ร้อยละ 15.6 และซึมเศร้า ร้อยละ 13.4 นอกจากนี้ นายอธิวัฒน์ ยังเห็นว่า สังคมไทยต้องเลิกเห็นว่า เรื่องบูลลี่ การกลั่นแกล้งกัน เป็นเรื่องเด็กๆ ปกติธรรมดาแล้วปล่อยผ่าน ต้องให้ความสำคัญ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง พร้อมเร่งปลูกฝังเรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายและให้เกียรติกัน

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ