นายกฯ สั่งการตั้ง ศปช. ส่วนหน้าที่เชียงราย วางกรอบทำงาน 30 วัน

27 ก.ย. 67

 

นายกฯ สั่งการตั้ง ศปช. ส่วนหน้าที่เชียงราย วางกรอบทำงาน 30 วัน ให้ "ธีรรัตน์"เป็นประธานอยู่ประจำศูนย์ โดยมี "จิรายุ" เป็นโฆษก 

วัน 27 ก.ย. 67 ภายหลังการประชุม ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. นั้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือในปัจจุบัน แม้จะมีการคลี่คลายไปบ้างแล้ว แต่ยังต้องบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และใกล้ชิดมากขึ้น และยังต้องมีการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 

และต้องขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และเจ้าหน้าที่ทุกคน อาสาสมัคร พี่น้องประชาชนที่ช่วยแก้ไขปัญหา สถานการณ์น้ำท่วม ในแต่ละพื้นที่ และขอฝากกำลังใจไปยังพี่น้องชาวหนองคายด้วย 

น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้ให้จัดตั้ง ศปช. ปฎิบัติการส่วนหน้า เพื่อเป็นศูนย์สั่งการ และประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยให้ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์  รมช.มหาดไทย เป็นประธาน และ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์  รมช.กลาโหม เป็นที่ปรึกษา และให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นโฆษก ให้ประจำที่หน้างานเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน เพื่อที่จะได้รู้ว่าเรามีส่วนกลางอยู่ตรงนี้ช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยให้มีการระดมกำพลผ่านทางกระทรวงกลาโหม และกระทรวงยุติธรรม ร่วมกับอาสาสมัคร และหน่วยงานเอกชนต่างๆ 

ส่วนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เขต อ.เมือง เชียงรายและอ.แม่สาย ให้กระทรวงมหาดไทย ให้มีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประชุมติดตามผลการดำเนินงานและปัญหา อุปสรรค ต่างๆจากหัวหน้าหน่วยที่รับผิดชอบแต่ละโซนทุกวัน เพื่อรายงานไปยัง ศปช. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหา ให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ต่อไป โดยทางรัฐบาลขอตั้งเป้าหมายในพื้นที่ที่ได้เริ่มเยียวยาแล้วภายในวันที่ 20 ต.ค. 67 นี้ ส่วนในพื้นที่อื่นๆ ขอให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จอย่างเร่งด่วน 

และให้ทุกส่วนราชการให้การสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือ บุคลากร ในการดำเนินงานโดยรายงานไปที่ศูนย์ศปช. และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และอธิบดีกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยทราบด้วย 

น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้หากในการดำเนินการพบว่าเครื่องจักร เครื่องมือมีไม่เพียงพอ เห็นสมควรให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีการจัดจ้างจากเอกชน เพื่อระดมการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยมอบหมายให้ กรมบัญชีกลาง พิจารณากระบวนการจัดจ้างให้เกิดความรวดเร็ว โดยไม่ขัดกับ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณกับหน่วยงาน ดำเนินการ เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนให้กับประชาชนต่อไป 

ส่วนเรื่องของการอำนวยความสะดวกเพื่อซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างอาคารบ้านเรือน ถนน สะพานเสาไฟฟ้า อ่างเก็บน้ำ ท่อระบายน้ำ ตลอดจนการบริหารจัดการขยะ และโคลน ให้ผ่อนผันเรื่องการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ และที่ราชพัสดุ ที่ส่วนราชการต่างๆใช้อยู่ เช่น พื้นที่ของกองทัพ โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเสนอประเด็นดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป 

สำหรับระบบเตือนภัย ขอให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเร่งรัดดำเนินการทั้งในพื้นที่นี้ และพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศที่มีความเสี่ยงให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนปีหน้า 

น.ส.แพทองธาร กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย กรมเจ้าท่า, กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย กรมทรัพยากรธรณี, กรมป่าไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ วางแผนการแก้ไข ปัญหาระยะกลาง และระยะยาว เช่น การขุดลอกแม่น้ำสายไม่ให้ตื้นเขิน พิจารณา ขยายสะพานหรือท่อระบายน้ำเพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ การป้องกันการพังทลายของ ตลิ่งและการจัดทำระบบเตือนภัยและสรุปผลเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาโดยด่วนต่อไป 

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ในการจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการเบิกจ่ายให้กับราษฎรฯ โดยเร็วที่สุด รวมถึงมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม ที่ทุกภาคส่วนจะเร่งเสนอต่อครม. ต่อไป  

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส