เอ็นไอเอเดินหน้าปรับลุค ชี้เทรนด์แฮปปี้เวิร์ก แฮปปี้ไลฟ์ สร้างสมดุลชีวิตการทำงานหลังวิกฤตโควิด

20 พ.ค. 63

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ก่อให้เกิดกระแสความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลากหลายมิติ หนึ่งในนั้นก็คือ “การทำงานที่บ้าน” หรือ Work From Home ที่ได้กลายเป็นปรากฏการณ์การทำงานรูปแบบใหม่ และอาจเป็น New Normal ของหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชน และยังถือเป็นอีกก้าวของการยกระดับองค์กรสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมที่พร้อมรับมือการการเปลี่ยนแปลงในบริบทโลก

 

NIA ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่เป็นองค์กรชั้นนำด้านนวัตกรรมของประเทศ และมีโอกาสได้เข้าไปร่วมประเมินศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กรทั้งหน่วยงานขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ได้มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งจากมาตรการทำงานที่บ้านในช่วงที่ผ่านมา NIA ได้มีการสำรวจความเห็นต่อระรบบการทำงานที่บ้านของบุคลากรในองค์กรซึ่งร้อยละ 36.4 เป็นคนรุ่นใหม่ พบว่ากว่าร้อยละ 44.3 มีประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น เนื่องจากมองว่างานส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์หรือวางแผนสามารถทำที่ใดก็ได้ ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง และการประชุมติดตามงานก็มีความกระชับมากขึ้น ร้อยละ 50 มองว่าการทำงานที่บ้านเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ควรทำต่อ แม้ว่าจะผ่านวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เพราะเชื่อว่าเป็นการทำงานที่สามารถบริหารจัดการเวลาได้เต็มที่ทั้งเรื่องงานและกิจกรรมส่วนตัว สร้างสมดุลชีวิตการทำงาน หรือ work life balance แต่ต้องมีการวางแนวทางต่าง ๆ ให้ชัดเจน และตอบโจทย์การทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงร้อยละ 62.5 เสนอให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการ เช่น การสื่อสาร การจัดเก็บ/แก้ไข/สืบค้นข้อมูลร่วมกัน การติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน ฯลฯ ซึ่งเหมาะกับองค์กรนวัตกรรมยุคใหม่ที่บุคลากรควรมีความพร้อมที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีและเครื่องมือใหม่ๆ ในการทำงานอยู่เสมอ

 

“ในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด – 19 NIA ยังได้ศึกษาข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและเริ่มพัฒนาระบบบริหารจัดการความรู้ภายใต้แนวคิด “การสร้างองค์กรนวัตกรรมภาครัฐ” เพื่อรองรับการทำงานและอำนวยความสะดวกให้การทำงานราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุดไม่ว่าจะภายในหรือภายนอกสำนักงาน โดยเน้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนาระบบงานให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การทำงานรูปแบบใหม่ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคต และเริ่มเตรียมการปรับเปลี่ยนสำนักงานสู่การเป็น Innovative Workplace ด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับสู่สภาพการทำงานปกติ ทั้งนี้ หากการศึกษาแนวทางและรูปแบบการปฏิบัติงานดังกล่าวมีประสิทธิภาพ NIA จะนำโมเดลนี้ไปเป็นต้นแบบให้กับองค์กรภาครัฐ หรือบริษัทเอกชนที่ต้องการยกระดับตนเองสู่องค์กรนวัตกรรม ซึ่งขณะนี้มีหลายองค์กรที่ต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน และสร้างโซลูชั่นใหม่ ๆ เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น”

 

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากสถานการณ์โควิด - 19 คลี่คลาย อาจจะเห็นการทำงานที่บ้านของหลายบริษัทในประเทศไทยอย่างจริงจัง รวมถึงหน่วยงานในกำกับราชการ ที่จะขยายโอกาสให้บุคลากรได้ทำงานจากนอกสำนักงานมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนระบบต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่น รวมทั้งยังจะได้เห็นสตาร์ทอัพและนักพัฒนาเทคโนโลยีออกมานำเสนอแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อใช้อำนวยความสะดวกกับการทำงานเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนในการสร้างโอกาสการพัฒนาองค์กรเข้าสู่การเป็น “องค์กรนวัตกรรม” ที่ไม่ใช่เพียงแค่การผลิตสินค้าหรือบริการที่มีความเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเท่านั้น แต่จะเป็นองค์กรที่สามารถหาโซลูชั่นใหม่ๆ ที่ช่วยในการบริหารจัดการแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความยั่งยืน และสามารถรับมือได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบริบทโลก รวมถึงเห็นการเปลี่ยน “วัฒนธรรมองค์กร” ที่รู้จักกล้าคิด กล้าตั้งคำถาม และกล้าที่จะทดลองลงมือทำในสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น การพัฒนาทักษะทรัพยากรมนุษย์ที่รู้จักเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และไม่ยึดติดกับโมเดลเดิมที่เคยประสบความสำเร็จ

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม