"อ.เจษฎ์" ขอแทงสวน ชี้ "แมงกะพรุน" เหมือนของจริงมาก ถ้าปลอมคงแพง

14 ส.ค. 63

"อ.เจษฎา" ให้ความเห็นแย้ง กรณีโซเชียลแชร์ พบแมงกะพรุนปลอม ลักษณะคล้ายพลาสติก ลวกแล้วเหนียว ชี้เหมือนของจริงมาก หากทำปลอมคงแพง 

จากกรณีมีผู้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ ซื้อ แมงกะพรุน จากตลาดเช้าสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และได้นำไปลวกในน้ำร้อน กลายเป็นลักษณะเหมือนพลาสติกหรือคล้ายยาง คาดว่าน่าจะเป็นแมงกะพรุนปลอม ล่าสุดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างแมงกะพรุน นำส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขแล้ว รอผลที่ชัดเจนต่อไปนั้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถึงกับงง! ซื้อแมงกะพรุนมาลวก ออกมาเนื้อเหนียวคล้ายพลาสติก

ล่าสุดวานนี้(13 ส.ค.) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ถึงกรณีดังกล่าว ระบุ "มีคนโพสต์คลิปเฟซบุ๊กว่า ซื้อแมงกะพรุน จากตลาดเช้าสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี แต่เมื่อลวกในน้ำร้อน กลับเหนียวเหมือนพลาสติกหรือยาง เลยบอกว่าน่าจะเป็นแมงกะพรุนปลอม" ? .... ผมว่าไม่น่าใช่นะครับ !!

จะดูจากสภาพของแมงกะพรุนตามในคลิปข่าวแล้ว หน้าตามันก็เหมือนกับแมงกะพรุนมากๆ ซึ่งถ้าใครทำปลอมกันละเอียดขนาดนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และราคาก็น่าจะแพงน่าดู .. เห็นว่าซื้อมากิโลกรัมละ 100 บาท แต่ถ้าทำจากพลาสติกหรือยาง เหมือนจริงระดับงานศิลป์แบบนี้ ผมว่ามันน่าจะแพงกว่านั้นน่ะ

จริงๆ แล้ว จะบอกว่า "แมงกะพรุนปลอม" ไม่เคยมีเลย ก็ไม่ใช่ เพราะเคยมีข่าวในประเทศจีนเหมือนกัน คือในปี พ.ศ. 2559 ตำรวจจีนเคยบุกทลายโรงงานผลิตแมงกระพรุนปลอม ในมณฑลเจ้อเจียงและมณฑลเจียงซู มีจำนวนกว่า 10 ตัน โดยใช้วัตถุดิบเป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค 3 ชนิด ได้แก่ sodium alginate, calcium chloride และ aluminum sulfate ซึ่งมีอันตรายเนื่องจากมีระดับของอลูมิเนียมสูงถึง 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สูงกว่าระดับที่กฎหมายจีนกำหนดไว้ถึง 8 เท่า

แต่ถ้าดูตามรูปประกอบด้านล่าง จะเห็นได้ชัดว่า สภาพของแมงกะพรุนปลอมที่คนจีนเคยทำนั้น ไม่ได้ดูคล้ายกับของจริงแต่อย่างไร ดูคล้ายๆ เส้นวุ้น ทำรูปทรงออกมาง่ายๆ มากกว่า

ส่วนแมงกะพรุนเหนียวๆ ที่เป็นข่าวในบ้านเรานั้น จริงๆ ก็ตรวจสอบเองไม่ยากถ้าใช้แว่นขยายหรือกล้องจุลทรรศน์ส่องดู ว่าโครงสร้างของเนื้อเยื่อนั้น เป็นของสิ่งมีชีวิต หรือเป็นพลาสติกเป็นยาง กันแน่ ... ไม่เช่นนั้น ก็คงต้องรอผลการตรวจสอบจากทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในอีก 7 วัน


แต่การที่แมงกะพรุนจะมีลักษณะเหนียวนั้นก็เป็นไปได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากสายพันธุ์ของแมงกะพรุนที่เอามาใช้ทําแมงกะพรุนดองขาย วิธีและสารเคมีที่ใช้ในการดอง รวมทั้งการจัดเก็บแมงกะพรุนก่อนที่จะมาขายหรือนำไปประกอบอาหาร (เช่น เคยเอาไปแช่ช่องฟรีซแข็งจัด ก่อนจะเอามาทำอาหารอีกทีหรือเปล่า เพราะจะทำให้โครงสร้างของเนื้อเยื่อเสียสภาพได้)

รอดูผลกันตรวจสอบนะครับ แต่ผมขอแทงไว้ก่อนว่า ไม่น่าใช่แมงกะพรุนปลอมครับ"

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ