บ่มเพาะสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G เสริมความเข้มแข็งของระบบนิเวศนวัตกรรม

14 ก.ย. 63

 

นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. กล่าวถึงกรอบความร่วมมือว่า สืบเนื่องจาก สนช. สวทช. และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของกำลังคน เพื่อสังคมนวัตกรรมที่ยั่งยืน ณ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด เมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนตุลาคม 2019 มีประเด็นสำคัญคือการร่วมมือในการพัฒนาระบบนิเวศทางด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และภาคเอกชน ร่วมกันพัฒนาบุคลากร ยกระดับขีดความสามารถ ทักษะดิจิทัล และนวัตกรรม เช่น บิ๊กดาต้า (Big data) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) 5G และบริการที่มาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทั้งแบบใช้สายและไร้สาย

ดังนั้น ทาง สนช. จึงร่วมกับ หัวเว่ย ประเทศไทย ผู้จัดหาโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ชั้นนำระดับโลก จัดการอบรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึก ด้าน 5G (Deep Tech Startup) ขึ้นเป็นปีที่ 2 ใน “โครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G” ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยร่วมกันพัฒนาด้าน IoT Cloud มาแล้ว แต่ขณะนี้ 5G เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาและสามารถพัฒนาไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ได้ เช่น ด้านการแพทย์ การท่องเที่ยว และเอนเตอร์เทนเมนท์ นับเป็นการเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพที่หน้าใหม่นำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ทำผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ให้แก่ลูกค้ามากขึ้น

สำหรับโครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G นี้เป็นโครงการที่เรามุ่งพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีก่อน ซึ่งหลังจากที่โปรแกรมเมอร์ หรือนักธุรกิจมีความเข้าใจเรื่อง 5G มากขึ้น ต่อไปจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจที่นำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้งานได้จริง เช่น การแพทย์ ที่ต่อไปอาจมีการใช้การแพทย์ทางไกล (Telemed) ที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่มีการสื่อสารระหว่างกัน ซึ่งเทคโนโลยี 5G จะทำให้คุณภาพในการสื่อสารดีขึ้นทั้งภาพวิดีโอ ภาพเอ็กซ์เรย์ในการตรวจสอบ หรือแม้แต่ธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับกระทบอย่างมากในช่วงวิกฤตโควิด นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ เราเอาสถานที่ท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ต่างๆ โบราณสถานต่างๆ ทำ content ที่ออกมาเป็น VR AR ได้ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถเข้าไปอยู่ในระบบดิจิทัลได้ แต่จะดูได้ดี เสถียรแค่ไหนจะเกี่ยวกับเรื่องความเร็วหรือขนาดของข้อมูล เราต้องใช้เทคโนโลยี 5G เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย

นายปริวรรต กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการอบรมครั้งนี้ว่าการอบรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึก ด้าน 5G (Deep Tech Startup) ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อพัฒนากลุ่มสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการนวัตกรรมในระยะเริ่มต้น ที่มีรูปแบบธุรกิจและพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก หรือมีผลิตภัณฑ์ต้นแบบเทคโนโลยีเชิงลึก, ส่งเสริมสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการนวัตกรรมในระยะเริ่มต้น เข้าสู่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้าน 5G และผลักดันเข้าสู่กระบวนการเร่งสร้างสตาร์ทอัพ (Acceleration Program) ของ NIA เช่น AGrowth (โปรแกรมเร่งสร้างการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเกษตรในระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทย), SPACE-F (โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และ SPARK (โครงการบ่มเพาะและเร่งสร้างวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ “Global Accelerator Program”) รวมทั้งส่งเสริมให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าสู่แหล่งเงินทุน เช่น NIA Venture, Open Innovation, PMU C และ National Venture Port เป็นการพัฒนาขีดความสามารถของสตาร์ทอัพให้สามารถขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต

และกล่าวฝากถึงสตาร์ทอัพหน้าใหม่ว่า ขณะนี้สถานการณ์สตาร์ทอัพทั่วโลกเกิดการชะลอตัวในการระดมทุนจากวิกฤตโควิด ดังนั้น สตาร์อัพ ควรปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี เรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ เช่น 5G เข้ามาปรับใช้เพื่อความอยู่รอดและสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่เพื่อการเติบโตต่อไป

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม