"โฆษก กทม." ไขคำตอบ ทำอย่างไรหากโดนยกเลิกสิทธิบัตรทอง จากโรงพยาบาลเดิม

28 ก.ย. 63

เอิร์ธ- พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร โพสต์คำแนะนำแก่ประชาชนว่าต้องทำอย่างไร
หากได้รับผลกระทบจากการที่บางโรงพยาลยกเลิกสิทธิบัตรทอง แต่ตนเองยังต้องมีการรักษาต่อเนื่อง มีคิวผ่าตัด หรือเจ็บป่วยทั่วไปแต่ยังต้องการใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาอยู่

ทั้งนี้ "เอิร์ธ" ได้ชี้แจงผ่านเพจเฟซบุ๊ก "เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang" ว่า

"ไม่ต้องกังวลผู้ป่วยต่อเนื่องสิทธิบัตรทองรักษาต่อที่ รพ.กทม. ฟรีไม่ยุ่งยาก
เจ็บป่วยเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินไม่น้อย แต่สำหรับใครที่ใช้สิทธิรักษาฯ บัตรทอง ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็ทุ่นลงไปได้เยอะมากจริงมั้ยครับ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กทม.จัด รพ.ในสังกัด 9 แห่ง รองรับผู้ป่วยบัตรทองโดยไม่ต้องส่งตัว
- เช็กด่วน! สปสช.ยกเลิกสัญญา 64 "คลินิก-รพ." โกงบัตรทอง กระทบปชช. 8 แสนคน

- ย้ายสิทธิ "บัตรทอง" แบบออนไลน์ง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง

ข่าวช่วงนี้ที่ สปสช. ยกเลิกสัญญากับคลินิก และ รพ.เอกชนจำนวนมาก ทำให้ผู้มีสิทธิรักษาบัตรทองในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบเกือบล้านคน หลายคนที่ได้รู้ข่าวแล้ว ก็ต่างวิตกกังวลไปตามๆ กัน
หากป่วยขึ้นมาวันนี้พรุ่งนี้จะทำอย่างไร? และยิ่งคนที่ป่วยอยู่แล้วต้องรักษาต่อเนื่อง จะต้องผ่าตัด กำลังจะคลอดตอนนี้ ยิ่งกังวลมากขึ้นไปหลายเท่า แล้วจะทำอย่างไรดี?

ผมมีคำตอบมาให้ครับ ก่อนอื่นขอยืนยันนะครับว่า ทุกคนที่มีสิทธิบัตรทองอยู่แล้ว ปัจจุบันก็ยังมีสิทธิบัตรทองต่ออยู่นะครับ แต่เพียงแค่เป็นสถานะ “สิทธิว่าง” หมายความว่า หากเจ็บป่วยก็ยังสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการบัตรทองของรัฐและเอกชนที่ใดก็ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายครับ เพราะหน่วยบริการจะเบิกค่าใช้จ่ายตามสิทธิมายัง สปสช. เองครับ
หากอยากรู้ว่าเราได้รับผลกระทบหรือไม่ มีสถานะ “สิทธว่าง” หรือเปล่า ก็ง่ายๆ ครับ ตรวจสอบสิทธิด้วยต้นเอง หรือจะย้ายสิทธิบัตรทองก็ได้ตามช่องทางนี้ครับ

*ไลน์ @ucbkk หรือคลิก https://lin.ee/mLvmHpQ
*หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น สปสช. http://onelink.to/ucbkkpp
*หรือโทรสายด่วน สปสช. โทร 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง
*แต่ถ้าหากไม่สะดวกทำออนไลน์ ก็มายื่นได้ด้วยตนเองที่หน่วยบริการ สปสช. ที่สำนักงานเขต 19 แห่ง หรือที่ห้างเดอะมอล์บางแคก็มีครับ

สำหรับ กทม. เองก็เตรียมความพร้อมรองรับสำหรับทุกคนไว้แล้ว
หากคนที่ถือบัตรทองมีสถานะ “สิทธิว่าง” จะมาใช้บริการศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ได้ หรือโรงพยาบาลสังกัด กทม. 9 แห่ง ก็พร้อมในการรับส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินมาดูแลอย่างต่อเนื่องให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกรณีผู้ป่วยผ่าตัด ทำคลอด ล้างไต ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

โดยนำประวัติการรักษา หรือใบนัดรักษาต่อเนื่องยื่นที่สถานพยาบาล ไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือส่งตัวครับ
สุดท้ายครับ ใครมีปัญหาเรื่องการใช้สิทธิบัตรทอง คอมเมนต์มาบอกกันได้ที่ใต้โพสต์นี้นะครับ ผมจะช่วยหาทางออกและประสานทุกส่วนเพื่อแก้ไขทันทีครับ รายละเอียดเพิ่มเติมครับ

โรงพยาบาลสังกัด กทม. 9 แห่ง ที่พร้อมให้บริการสำหรับ “สิทธิว่าง” ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง / โรงพยาบาลตากสิน / โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ / โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ / โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ / โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร /โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ / โรงพยาบาลสิรินธร และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน

หน่วยบริการ สปสช. ที่สำนักงานเขต 19 แห่ง
คลองสามวา / คลองเตย / ธนบุรี / บางกะปิ / บางขุนเทียน / บางพลัด / บางแค / ประเวศ / พระโขนง / มีนบุรี / ราชเทวี / ราษฎร์บูรณะ / ลาดกระบัง / ลาดพร้าว / สายไหม / หนองจอก / หนองแขม / หลักสี่ / ห้วยขวาง "

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ