เหตุการณ์บ้านเมือง! ขับเคลื่อนเด็กเจนใหม่ เรียนการเมือง-สังคมมากขึ้น

24 พ.ย. 63

อาจารย์กวดวิชาเผย “เหตุการณ์บ้านเมือง” ขับเคลื่อนเด็กเจนใหม่เลือกเรียนด้านการเมือง-สังคมเพิ่มมากขึ้น พร้อมชี้เป็นจุดเปลี่ยนที่โรงเรียน-สถาบันกวดวิชาต้องเร่งปรับ และเพิ่มในหลักสูตรการสอน

ดร.ณัทธนัทธ์ เลี่ยวไพโรจน์ เจ้าของสถาบันสอนสังคมศึกษา “ครูป๊อป” เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2562 – 2563 พบว่าเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมปลายเริ่มมีความสนใจในวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง การพัฒนาสังคม รวมถึงงานในด้านสื่อและการผลิตคอนเทนท์อย่างต่อเนื่อง

โดยจากการสำรวจข้อมูลเชิงลึกพบว่าการ disrupt และการเติบโตของ Social Network โดยเฉพาะทวิตเตอร์ที่เป็นพื้นที่เสรีในการที่จะแสดงออกตัวตน ความชอบ และการแสดงความคิดเห็น เป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กสามารถพบเจอคนที่มีความคิด ความรู้สึกที่คล้าย ๆ กันได้ง่าย โดยช่องทางดังกล่าวยังเปรียบเสมือนพื้นที่ที่ทำให้เรื่อง ‘การเมือง’ กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวของเด็ก ๆ อย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น หลังจากนี้หลาย ๆ โรงเรียน หลาย ๆ ครอบครัว รวมถึงสถาบันการศึกษาในระดับต่าง ๆ จะได้เห็นปรากฏการณ์การเลือกเรียนในสาขาวิชาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และยังจะเป็นตัวแปรให้ครู อาจารย์ด้านสังคมศาสตร์ต้องสอนเนื้อหาเหล่านี้เพิ่มเติมในชั้นเรียนมากขึ้นเช่นเดียวกัน

“ประเด็นที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเด็กที่เติบโตมากับวิถีชีวิตออนไลน์จะสนใจเรื่องเกี่ยวกับการเมือง โดยหมุดหมายสำคัญน่าจะเริ่มต้นที่ ‘การเลือกตั้งปี 2562’ ที่เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหาร และการปกครองโดยรัฐบาลทหารมาเป็นเวลานาน เมื่อมีการเลือกตั้งก็ทำให้เกิด ‘new voters’ ที่เป็นกลุ่มเด็กขึ้นมาซึ่งมีแนวโน้มที่จะเลือกพรรคการเมืองใหม่ ๆ นอกเหนือพรรคเดิม ๆ เพราะเด็ก ๆ เหล่านี้ ต้องการที่จะเลือกอนาคตที่ดีให้กับตนเอง และมีความเชื่ออย่างยิ่งว่าเสียงของพวกเขาจะมีผลในการเปลี่ยนแปลงอนาคตได้จริง ๆ จึงทำให้เด็ก ๆ มีความสนใจในการเมืองเป็นอย่างมาก

ประกอบกับเมื่อผลการเลือกตั้งที่ออกมา และข่าวการเมืองต่าง ๆ ที่พวกเขามองว่ามีบางประเด็นน่าสงสัย จึงทำให้เกิดการสืบค้นข้อมูลนำมาเผยแพร่ในโลกออนไลน์มากขึ้น หน้าข่าวสารออนไลน์ก็เต็มไปด้วยเรื่องการเมืองมากขึ้นจึงทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าตัวเองใกล้ชิดเรื่องเหล่านี้ไปโดยปริยาย ยิ่งไปกว่านั้นการสร้างสรรค์เนื้อหาหรือคอนเทนท์ที่โดนใจ ยังเป็นแรงจูงใจให้เด็ก ๆ เริ่มมีความกล้าแสดงออก และต้องการที่จะเข้าไปมีตัวตนในพื้นที่ออนไลน์ หรือการผันตัวเป็นสื่อเพิ่มมากขึ้นอีกเช่นเดียวกัน

ดร.ณัทธนัทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสนใจในประเด็นด้านสังคม ส่วนใหญ่ในสถานศึกษาหรือในโรงเรียนอาจยังไม่เท่าทันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในรายวัน จึงทำให้การถ่ายทอดเนื้อหาต่าง ๆ ยังไม่ตอบโจทย์กับสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ต้องการที่จะเรียนรู้
ภาพที่เห็นในปัจจุบันคือเด็ก ๆ จะเริ่มเสาะแสวงหาสิ่งที่แต่ละคนชอบหรือสนใจเป็นพิเศษจากนอกห้องเรียน รวมทั้งจะได้เห็นบุคคลในแวดวงอาชีพสายสังคมผันตัวมาให้ความรู้และประสบการณ์กับเด็ก ๆ เพื่อนำไปต่อยอดสำหรับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา รวมถึงการนำไปประกอบอาชีพในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามในการศึกษาต่อด้านการเมือง การปกครอง หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ยังต้องอาศัยองค์ความรู้และบางทฤษฎีที่อยู่ในตำราเรียน ซึ่งเด็ก ๆ ทุกคนก็ยังจำเป็นต้องเรียนรู้ จดจำ และนำไปใช้เพื่อการสอบเข้า

โดยผู้ที่มีความสนใจในการศึกษาต่อด้านสังคมศาสตร์องค์ความรู้สำคัญที่ควรจะมีคือองค์ความรู้ด้านสังคม และองค์ความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และสิ่งที่สำคัญในมุมมองอาจารย์ที่ต้องการฝากฝังเพิ่มเติมคือ ‘mindset’ หรือหลักคิดของเด็ก ที่ควรจะมี ‘growth mindset’ หรือการคิดว่าเรามีความสามารถที่จะไปยังคณะ หรือมหาวิทยาลัยที่เรามีความมุ่งหวังที่จะไปได้อย่างไร ต้องไม่ดูถูกตัวเอง หรือเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นๆ เพราะการคิดดูถูกหรือเปรียบเทียบกับคนอื่นๆจะทำให้เราปิดกั้นตัวเองต่อโอกาสต่าง ๆ ที่สมควรได้รับ

ด้านนางสาวคณาภรณ์ กิตติอนุกูล สตาร์ทอัพผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษา กวดวิชาออนไลน์แอทโฮม : AT HOME กล่าวว่า ปัจจุบันแอปพลิเคชั่นกวดวิชาออนไลน์ AT HOME มีเด็ก ๆ ในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายที่เรียนพิเศษออนไลน์อยู่ในระบบกว่า 40,000 คน พบว่าเด็ก ๆ ทั้งที่อยู่ในแผนการเรียนวิทย์คณิต และสายสังคมเริ่มมีความสนใจในเรื่องการเมือง และวิชาชีพในสายสังคมมากขึ้นจริง ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า หลายคนต้องการให้มีการเปิดสอนทั้งในเรื่องประวัติศาสตร์การเมือง การจัดคอร์สพิเศษที่ให้ความรู้นอกเหนือจากในห้องเรียนหรือที่มากกว่าการติวข้อสอบ

นอกจากนี้ยังมีการเสนอแนะให้ทางสถาบันเพิ่มในส่วนของการแนะแนวอาชีพ และดึงผู้ที่มีประสบการณ์ในแต่ละสาขามาให้ความรู้เพื่อเป็นแนวทางให้น้อง ๆ ตัดสินใจเลือกเรียนในอนาคต โดยเฉพาะในสายสื่อมวลชน นักประชาสัมพันธ์ (พีอาร์) โฆษณา การเมืองและหน่วยงานราชการ และที่มาแรงที่สุดคือกลุ่มผู้นำทางความคิด (Influencer) รวมถึงผู้ผลิตคอนเทนท์ในรูปแบบต่าง ๆ

“จากเดิมสายวิทย์อาจเป็นคำตอบของหลาย ๆ ครอบครัวที่มักเชื่อกันว่าเป็นแผนการเรียนด้านนี้จะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี มั่นคง และมีรายได้สูง แต่จากเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่าการเมืองคือภาพกว้าง มีผลตกกระทบต่อทุกอาชีพ คือสิ่งที่ครอบทุกคนอยู่ เพราะฉะนั้นจึงทำให้เด็ก ๆ จำนวนไม่น้อยมีความรู้สึกว่าอยากพาตัวเองเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้มันดีขึ้นทั้งในปัญหาที่เล็กน้อย ไปจนถึงปัญหาระดับมหภาค

สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นมิติทางการศึกษาที่ทั้งโรงเรียน รวมถึงสถาบันกวดวิชาต้องเร่งปรับตัว เพราะปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่เริ่มเห็นอะไรที่หลากหลายและเทคโนโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งได้ทำให้วิชาชีพสายสังคมได้รับความนิยมอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ การปรับตัวให้สอดรับกับสิ่งดังกล่าวไม่ใช่เพียงเพื่อผลกำไรทางธุรกิจ หรือการสร้างผลงาน แต่เป็นการชี้นำในสิ่งที่ถูกต้อง ช่วยให้เด็กได้มีทางเลือกและไปในเส้นทางที่ชอบได้จริง พร้อมทั้งก้าวไปสู่จุดหมายได้อย่างมีความมั่นใจ ”

นางสาวคณาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในยุคนี้การนำเอาเทคโนโลยีออนไลน์มาใช้ในการศึกษา ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะมักถูกตั้งคำถามว่า “จะมีประสิทธิภาพหรือไม่ / เด็ก ๆ จะเรียนรู้ได้จริงหรือเปล่า” แต่จากสถานการณ์โควิด – 19 ที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้ทุกคน “โดนบังคับ” ให้ต้องรู้จักกับการเรียนออนไลน์ ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าระบบนี้มีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังต้องพัฒนาอีกมาก

ดังนั้น สิ่งนี้จึงเป็นประเด็นที่ AT HOME กำลังพัฒนาเพื่อให้ระบบการศึกษาไทยก้าวไปข้างหน้า พร้อมสร้างประสบการณ์ให้การเรียนนอกห้องเรียนให้เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ ยังเตรียมยกระดับบทบาทจากการเป็นแพลตฟอร์มติวข้อสอบออนไลน์ สู่ระบบนำทางให้กับน้อง ๆ ที่มาเรียนกับ AT HOME ได้รู้จักกับตัวตน รู้ถึงสิ่งที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประสบการณ์ที่นอกเหนือจากในห้องเรียน และพร้อมที่จะเป็นช่องทางการเรียนรู้ที่ตอบทุกโจทย์การศึกษาแห่งอนาคต.

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ