สธ.เคาะแผนฉีดวัคซีน ล็อตแรก ก.พ.-เม.ย. กลุ่มเสี่ยง ยกเว้นคนท้อง-เด็กต่ำกว่า 18 ก่อนฉีดกลุ่มอื่นตั้งแต่ พ.ค. หากพบผลข้างเคียงรุนแรงหยุดฉีดทันที
สธ.เคาะแผนฉีดวัคซีน ล็อตแรก ก.พ.-เม.ย. กลุ่มเสี่ยง ยกเว้นคนท้อง-เด็กต่ำกว่า 18 ก่อนฉีดกลุ่มอื่นตั้งแต่ พ.ค. หากพบผลข้างเคียงรุนแรงหยุดฉีดทันที
วานนี้ (15 ม.ค.64) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ครั้งที่ 1/2564 โดยมี ผู้แทนจากหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมการประชุม โดยในวันนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแผนงานการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย โดยได้พิจารณาครอบคลุมทั้งด้านวิชาการ ด้านนโยบาย และด้านการบริหารจัดการ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "อนุทิน" พร้อมเป็นหนูทดลอง ฉีดวัคซีนคนแรกของประเทศ แม้ได้ผลแค่ 50%
- เปิด 4 กลุ่มแรก ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 2 เข็ม ห่าง 1 เดือน เริ่ม ก.พ.นี้
- เจ้าสัวเร่งเครื่อง! ซีพีทุ่ม 1.5 หมื่นล้าน ถือหุ้นซิโนแวคผลิตวัคซีนโควิด-19
- คนไทยได้ใช้วัคซีนโควิด ก.พ. เรียงลำดับการฉีดตามความจำเป็น
นพ.โอภาส กล่าวว่า แผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้
1.ระยะที่วัคซีนมีจำกัด เดือน ก.พ.-เม.ย. 64 ในกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับอันดับต้นคือ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 2.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน 3.ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ เป็นต้น ที่คัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาด ทั้งนี้การฉีดวัคซีน ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ โดยยกเว้นการฉีดให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยรองรับ
2. ระยะที่ 2 เมื่อวัคซีนมีมากขึ้น ในเดือน พ.ค.-ธ.ค. 64 กลุ่มเป้าหมาย จะเป็นกลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 และจะขยายพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ รวมถึงพิจารณากลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศขับเคลื่อนได้ตามปกติ
3. ระยะ 3 ที่วัคซีนมีเพียงพอ ตั้งแต่ ม.ค. 65 เป็นต้นไป จะเป็นกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชน
นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ยังเป็นวัคซีนชนิดใหม่ที่มีข้อมูลไม่มาก ที่ประชุมได้เห็นชอบ ให้ตั้งคณะที่ปรึกษาและคณะทำงาน 6 ชุด ได้แก่ คณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนงาน คณะทำงานด้านวิชาการ คณะทำงานด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และสื่อสารประชาสัมพันธ์ คณะทำงานด้านการให้บริการวัคซีน ฝึกอบรม และกำกับติดตามผล คณะทำงานด้านการประกันคุณภาพวัคซีนและติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับใน 4 สัปดาห์ หากการสอบสวนพบว่าการให้วัคซีนแล้วเกิดอาการแพ้ หรือมีผลข้างเคียงอย่างรุนแรง จะมีการหยุดฉีดวัคซีนทันที
“วัคซีนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่สำคัญที่เรามีวันนี้ก็คือ การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ เว้นระยะห่าง ถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังคงใส่หน้ากาก 100% วัคซีนเป็นเครื่องมือหนึ่งจะช่วยเสริมทำให้ระบบป้องกันควบคุมโรคดีขึ้น” นายแพทย์โอภาส กล่าว
Advertisement