สธ.เผย ดีเดย์ฉีดวัคซีนเข็มแรก 14 ก.พ. เปิดลงทะเบียนผ่าน "หมอพร้อม"

26 ม.ค. 64

สธ.เปิด Line Official Account "หมอพร้อม" ลงทะเบียนฉีดวัคซีนในบุคลากรก่อน 12 ก.พ. ฉีดวัคซีนเข็มแรก 14 ก.พ.นี้ หลังวัคซีนแอสตราเซเนกาถึงไทยลอตแรก 50,000 โดส 

วานนี้ (25 ม.ค.64) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมชี้แจงการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ระยะที่ 1 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมกับประธานคณะทำงาน 6 คณะ โดยมีผู้บริหารส่วนกลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศเกือบ 1,000 แห่ง เข้าร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ 

นายอนุทินกล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งจัดหาวัคซีนสำหรับให้บริการแก่ประชาชนคนไทยทุกคนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตามความสมัครใจ ยึดหลักโปร่งใส วัคซีนมีความปลอดภัย มีคุณภาพได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ราคาเหมาะสม และสะดวกในการขนส่งในประเทศที่มีสภาพอากาศร้อน เพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับประเทศไทย 

จึงได้มีการประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงาน 6 คณะ ภายใต้คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อให้ทุกจังหวัดเตรียมแผนรองรับการฉีดวัคซีนประชาชนทุกคนซึ่งเป็นการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ให้เป็นไปตามแผนและเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยฉีดคนละ 2 เข็ม ดำเนินการในช่วงแรกกำหนดสถานที่ฉีดในโรงพยาบาล เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่จึงเฝ้าระวังสังเกตอาการ 30 นาที หากมีผลข้างเคียงจะช่วยเหลือได้ทันที

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำ Line Official Account ในชื่อว่า “หมอพร้อม” เป็นระบบรองรับการให้บริการวัคซีน ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและหน่วยบริการ ในการลงทะเบียนผู้รับวัคซีน ติดตามอาการไม่พึงประสงค์ ติดตามประเมินผลการให้วัคซีนจากหน่วยบริการทั่วประเทศได้อย่างครอบคลุม และเป็นการเพิ่มช่องทางการสื่อสารกับประชาชน โดยติดตามอาการไม่พึงประสงค์ของทุกคนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนในวันที่ 1, 7, 30 และ 60 โดยเบื้องต้นจะมีการทดสอบการส่งข้อมูลและประเมินผลภายในวันที่ 27 มกราคม 2564 และจะเปิดตัวหมอพร้อม ระยะที่ 1 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ในวันที่ 12 ก.พพ. 64 สำหรับประชาชน จะเปิดใช้งานในช่วงเดือนเม.ย. 64

นพ.โสภณ​ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนฯ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการอาหารและยาขึ้นทะเบียนวัคซีนฉุกเฉินของบริษัท แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เป็นแห่งแรกในการเจรจาครั้งล่าสุด​ โดยประเทศไทยจะได้วัคซีนล็อตแรกจำนวน 150,000 โดส 50,000​ โดสแรก​ จะทยอยมาถึงประเทศไทยในเดือน ก.พ. พร้อมฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์โดยสมัครใจที่ทำหน้าที่อยู่ใน จ.สมุทรสาคร เป็นหลัก​ จำนวน​ 6,000 -​ 7,000 คน

ส่วนอีก 100,000​ โดส จะทยอยตามมาในเดือน มี.ค.และ เม.ย. ทั้งนี้ล็อตแรก 150,000 โดสเป็นคนละล็อตกับกับ 26 ล้านโดสซึ่งจะผลิตภายในประเทศโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กับคนไทยตามแผนที่กำหนดไว้ 3 ระยะ ได้แก่

- ระยะที่ 1 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2564 วัคซีนยังมีปริมาณจำกัด จะดำเนินการในพื้นที่ที่มีการระบาด โดยจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย โดยตั้งเป้าหมายจะเริ่มฉีดในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564

- ระยะที่ 2 ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม 2564 เมื่อจัดหาวัคซีนได้มากขึ้น จะขยายพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายจากระยะที่ 1 ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ

- ระยะที่ 3 ช่วงเดือน มกราคม 2565 เป็นต้นไป เมื่อมีวัคซีนอย่างเพียงพอ จะฉีดให้กับประชาชนทั่วไปทุกคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากร และฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ ขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเตรียมความพร้อมการให้บริการวัคซีน โดยสำรวจกลุ่มเป้าหมายและความต้องการวัคซีน จัดทำแผนปฏิบัติการ ชี้แจงอบรมบุคลากรทั้งภาครัฐ เอกชน และอสม. สื่อสาร ชี้แจง แนะนำประชาชนรวมถึงผู้นำชุมชน จัดระบบบริการ ระบบห่วงโซ่ความเย็น และระบบเฝ้าระวังติดตามอาการไม่พึงประสงค์ และซักซ้อมแผน ตรวจสอบความพร้อมก่อนเริ่มให้บริการ

ทั้งนี้ คณะทำงาน 6 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนงานซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 12 ท่าน 2.คณะทำงานด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารฯ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย 3.คณะทำงานด้านการให้บริการวัคซีน ฝึกอบรมและกำกับติดตามผล กำหนดแนวทางการให้บริการวัคซีน และแผนฝึกอบรมบุคลากรสาธารณสุขที่ให้บริการวัคซีน เป็นต้น 4.คณะทำงานด้านการประกันคุณภาพวัคซีนและติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน จัดทำแนวทางการจัดการเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังรับวัคซีน มีระบบติดตามข้อมูลและตอบสนองต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ 5.คณะทำงานด้านระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีนโควิด-19 วางแผนระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีน พัฒนาระบบลงทะเบียนการให้บริการวัคซีน เพื่อให้หน่วยบริการใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ และเก็บรวบรวม วิเคราะห์ประมวลผลการให้บริการวัคซีน และ 6.คณะทำงานด้านการบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการและความเคลื่อนไหวที่สำคัญเกี่ยวกับวัคซีน ทั้งระดับโลกและในประเทศเพื่อวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการและให้บริการวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ