กระทรวงสาธารณสุขเผยประสิทธิผลการใช้จริง ซิโนแวค ยังป้องกันติดเชื้อกว่า 90% และปอดอักเสบ 85% ในสายพันธุ์อัลฟา ส่วนสายพันธุ์เดลตาประสิทธิผลการใช้จริงยังคงตัว แต่ต้องปรับฉีดวัคซีนสูตรผสมเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันมากขึ้น ใช้วัคซีนที่มีให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด และเร่งจัดหาวัคซีนรูปแบบอื่นเข้ามาเพิ่มเติม
วันนี้ (19 กรกฎาคม 2564) ที่ ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงข่าวประสิทธิผลวัคซีนโควิด 19 ว่า จากการศึกษาประสิทธิผลวัคซีนโควิด 19 สถานการณ์จริงในประเทศไทย 4 การศึกษา ดังนี้ 1.จ.ภูเก็ต
เป็นการศึกษาติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2564 จำนวนกว่า 1,500 ราย พบการติดเชื้อ 124 ราย เมื่อเปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อระหว่างผู้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีน พบว่าประสิทธิผลช่วยป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 90.7% 2.จ.สมุทรสาคร เป็นการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเช่นกันกว่า 500 ราย ช่วงเมษายน 2564 พบติดเชื้อ 116 ราย ประสิทธิผลป้องกันติดเชื้ออยู่ที่ 90.5%
3.จ.เชียงราย เป็นการศึกษากรณีพบการติดเชื้อในบุคลากรสาธารณสุข ช่วงเดือนมิถุนายน 2564 โดยศึกษาบุคลากรกว่า 500 ราย พบการติดเชื้อ 40 ราย และยังได้ติดตามความรุนแรงเรื่องปอดอักเสบ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลพบว่า ประสิทธิผลของซิโนแวค 2 เข็มป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 88.8% และป้องกันปอดอักเสบอยู่ที่ 84.9%
ส่วนบุคลากรที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็มครบ 14 วัน ป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 83.8% และ 4. กรมควบคุมโรค
ใช้ฐานข้อมูลติดตามบุคลากรสาธารณสุขที่ติดเชื้อทั้งประเทศและข้อมูลการรับวัคซีน ช่วงเวลาตั้งแต่ 1 พฤษภาคม-
30 มิถุนายน 2564 พบว่า ประสิทธิผลอยู่ที่ 71% ช่วงเดือนพฤษภาคมที่มีการระบาดเป็นสายพันธุ์อัลฟา และประสิทธิผลอยู่ที่ 75% ช่วงเดือนเดือนมิถุนายนที่เริ่มมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาแทนที่อัลฟาประมาณ 20-40%
ผลการศึกษาทั้งหมดตั้งแต่ช่วงเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งเป็นสายพันธุ์อัลฟาเกือบทั้งหมด พบว่า ประสิทธิผลของซิโนแวคหากได้ครบ 2 เข็ม ยังมีประสิทธิผลดีพอสมควร คือ ป้องกันติดเชื้อประมาณร้อยละ 90 และป้องกันปอดอักเสบได้ร้อยละ 85% ส่วนประสิทธิผลต่อสายพันธุ์เดลตา ข้อมูลที่ศึกษาโดยกรมควบคุมโรคในขณะนี้ ถือว่ายังคงที่คือร้อยละ 75
ที่ไม่ต่างจากเดิมที่ร้อยละ 71 วัคซีนที่ประเทศไทยใช้อยู่ปัจจุบันถือว่ามีความปลอดภัย และมีประสิทธิผลสูง โดยเฉพาะสายพันธุ์อัลฟา ส่วนการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดมีสัดส่วนของสายพันธุ์เดลตาที่สูงขึ้นรวดเร็ว ข้อมูลการศึกษาภาคสนามกรมควบคุมโรคยังไม่พบว่าประสิทธิผลของวัคซีนลดลง
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาทางห้องปฏิบัติการพบว่า การฉีดเข็มกระตุ้น และการฉีดสลับประเภทของวัคซีนในกรณีที่เดิมเป็นการใช้วัคซีนเชื้อตายแบบ “ซิโนแวค” จะสามารถเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันให้ได้สูงกว่าเดิมได้รวดเร็วและ
สูงมากขึ้น จึงทำให้มีการปรับนโยบายวิธีการฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับวัคซีนที่มีอยู่ให้สูงขึ้น โดยบุคลากรสาธารณสุขที่ฉีดวัคซีนครบแล้วมีการเพิ่มเข็มกระตุ้น และประชาชนทั่วไป ใช้การฉีดสลับประเภทในกรณีที่เดิมได้รับวัคซีนซิโนแวค ทั้งนี้เพื่อสามารถรับมือการระบาดของสายพันธุ์เดลตาล่วงหน้าได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม โดยไม่ได้หมายความว่าวัคซีนเดิมไม่มีประสิทธิผลแต่ประการใด
นายแพทย์ทวีทรัพย์กล่าวต่อว่า ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกยังมีความจำกัดของวัคซีน ประเทศไทยยังมีความจำเป็นและควรใช้วัคซีนซิโนแวคต่อไป เนื่องจากวัคซีนซิโนแวคเองถือว่ายังมีประสิทธิผลดี ดังผลการศึกษาประสิทธิผล
ในประเทศ และยังสามารถจัดหาได้เร็ว ปริมาณพอสมควรได้โดยไม่ต้องรอถึงไตรมาส 4 หรือปีหน้า ที่อาจทำให้ไม่ทันการณ์ต่อการป้องกันควบคุมการระบาดในขณะนี้ สถานการณ์การขาดแคลนวัคซีนเป็นไปเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีความพยายามในการจัดหาวัคซีนอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดสามารถตกลงที่จะนำวัคซีน mRNA คือวัคซีนไฟเซอร์ เข้ามาเพิ่มเป็นวัคซีนหลักอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย จำนวน 20 ล้านโดส โดยบริษัทคาดว่าสามารถจัดส่งให้ช่วงไตรมาส 4 คือ หลังตุลาคม 2564 เป็นต้นไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หมอ ไขคำตอบเหตุ วัคซีน mRNA รับมือโควิดกลายพันธุ์ได้ดีกว่า ซิโนแวค
- ฮ่องกง เผยวัคซีนไฟเซอร์ สร้างแอนติบอดี สูงกว่า ซิโนแวค ถึง 10 เท่า
- มาเลเซีย ยกเลิกวัคซีน ซิโนแวค เปลี่ยนใช้ไฟเซอร์ เป็นหลักสั่งล็อตใหญ่ 45 ล้านโดส
Advertisement