นาย ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากกรณีสถานการณ์การชุมนุมที่ผ่านมา และมีการโพสต์หรือส่งต่อข้อความที่เข้าข่ายการกระทำความผิด ศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การชุมนุมและใช้โซเชียลมีเดีย กระทรวงดิจิทัลฯ พบว่ามีการโพสต์หรือแชร์ข้อความที่เข้าข่ายการกระทำความผิด ทั้งหมด 147 ราย ประกอบด้วย จากเฟซบุ๊ก 15 ราย ทวิตเตอร์ 132 ราย ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการตามข้อกฎหมายต่อไป
สำหรับการโพสต์หรือแชร์ข้อความผิดกฎหมายลงในระบบคอมพิวเตอร์/ผ่านโซเซียล จะมีโทษ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ม.14 (3) การนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดใดอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ผมอยากเตือนผู้ใช้สื่อออนไลน์ทุกคนด้วยความห่วงใยว่า ให้เพิ่มความระมัดระวังในการโพสต์ เพราะหากโพสต์ข้อความที่เป็นเท็จ สร้างข่าวปลอมในระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงการแชร์ข้อความเท็จนั้น ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย รวมทั้งให้มีความตระหนักในการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการฝ่าฝืนข้อกำหนดหรือกฎหมายในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด” นายชัยวุฒิกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานติดตามความเคลื่อนไหวสถานการณ์ชุมนุมโดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากติดตามแล้วก็จะสืบค้นถึงต้นโพสต์ แม้จะเป็นอวตารก็จะหาตัวให้ได้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำไปดำเนินคดีต่อไป
“ที่สำคัญกลุ่มดารานักแสดง Influencer เป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนรักและศรัทธา ขอความกรุณาอย่าใช้สิ่งเหล่านี้เคลื่อนไหวทางการเมืองโจมตีรัฐบาล เพราะสิ่งที่ทำเป็นการบิดเบือนข้อมูล เป็นการสร้างเฟคนิวส์ขึ้นในระบบโซเชียลมีเดีย ท่านพูดแต่ว่าทุกวันนี้มีคนตายเป็นจำนวนมากเพราะโควิดเนื่องจากวัคซีนไม่ดีเป็นความผิดของรัฐบาล แล้วมันจริงหรือไม่ ขอให้อย่ามองเพียงด้านเดียว ต้องนึกถึงสิ่งที่รัฐบาลได้ทำมาได้จัดหาวัคซีนมาอย่างดีตามมาตรฐาน เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเราตอนนี้” นายชัยวุฒิกล่าว
ปัจจุบัน หากมองภาพรวมในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทย ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคนี้ ซึ่งช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนของประเทศไทย ได้ช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่เพื่อให้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 คลี่คลายให้เร็วที่สุด จึงจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้กับภัยโควิด บนพื้นฐานความปลอดภัยและความรับผิดชอบต่อสังคมในสถานการณ์นี้
ทางด้าน พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยโดยรวมของประเทศ จากการชุมนุมที่ผ่านมา ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนผู้ร่วมชุมนุมที่ผ่านมาหลายครั้ง โดยแจ้งว่าผู้ที่มีการชักชวน เชิญชวน ไม่ว่าด้วยประการหนึ่งประการใด ผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งสื่อโซเชียล จะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกส่วนหนึ่งด้วย
รวมทั้ง ได้มีการประสานข้อมูลกับ รมว.ดีอีเอส เพื่อดำเนินการพิจารณาดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาได้ประสานงานกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) อย่างใกล้ชิดเพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ
“ขอย้ำเตือนอีกครั้งว่า การโพสต์เชิญชวนด้วยประการใดๆ ให้มีการร่วมกระทำผิดโดยเฉพาะการชุมนุมหรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นความผิดทางกฎหมาย ผู้โพสต์ ผู้เชิญชวน ผู้ประกาศ ส่งต่อด้วยประการหนึ่งประการใด จะเป็นความผิดตามกฎหมายที่ได้กล่าวไปแล้ว” พล.ต.ต. ปิยะกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สธ.หารือนำเข้า วัคซีน 120 ล้านโดสรองรับการกลายพันธุ์ปี 65
- สธ.สรุปจัดหา วัคซีน 100 ล้านโดสปี 64 แอสตร้าฯ 61 ซิโนแวค 19 ไฟเซอร์ 20 ล้าน
- สถาบันวัคซีน ขอโทษประชาชน จัดหาไม่ทันต่อสถานการณ์ เผยเริ่มเจรจาเข้าโคแวกซ์แล้ว
Advertisement