คนไทยใจเย็นก่อน! ทนายดังเตือน ถ่ายรูปโชว์ก้นตามที่เที่ยวตามเทร็นด์ เจอข้อหาแน่ ขุดรูปฝรั่งส่อถูกฟ้องอีกกระทง

3 ต.ค. 61
จากกรณีการแชร์รูปภาพ เทร็นด์การถ่ายรูปแบบใหม่ เป็นการเปลือยก้นตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น เมือง ป่า ภูเขา ชายทะเล และนำภาพดังกล่าวมาเผยแพร่ตามสื่อออนไลน์ ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ ซึ่งกระแสการถ่ายรูปดังกล่าวนี้ มีที่มาจากต่างประเทศ นั้น
โพสต์เชิญชวนให้มีการถ่ายรูปในลักษณะดังกล่าว
วันที่ 3 ต.ค. 61 นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความ ได้อธิบายถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในแง่มุมของกฎหมาย ว่า สำหรับเทร็นด์การถ่ายรูปนี้ อาจแบ่งความผิดได้เป็นสามประเด็น ได้แก่ การถ่ายรูปเปลือยในที่สาธารณะ, การโพสต์รูปภาพโป๊เปลือยลงในโซเชียลมีเดีย, และการแชร์รูปภาพโป๊เปลือยจากต่างประเทศ โดยประเด็นแรก คือ การถ่ายรูปโป๊เปลือยในที่สาธารณะ การกระทำดังกล่าวนี้มีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 388 ที่บัญญัติว่าผู้ใดกระทำการอันควรขายหน้าต่อธารกำนัล มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000 ซึ่งโทษดังกล่าวนี้ ทั้งนี้ การจะพิจารณาความผิดดังกล่าว อาจจะต้องดูจากสถานการณ์ขณะที่ถ่ายรูปเป็นสำคัญ ว่า “มีคนอื่นเห็นหรือไม่ โดยคนอื่น อาจไม่รวมถึงคนในกลุ่มที่ถ่ายรูปด้วยกัน” หากมีคนอื่นเห็น ถึงแม้จะถ่ายรูปอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวหรือเคหสถานก็สามารถมีความผิดในมาตรา 388 ได้เช่นกัน แต่ถ้าหากไม่มีคนเห็นแม้อยู่ในสถานที่สาธารณะ เช่น ชายหาด ป่า ก็อาจถือได้ว่าไม่มีความผิด
นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความ (แฟ้มภาพ)
ต่อมา เป็นเรื่องการโพสต์รูปเปลือยก้นลงในโซเชียลมีเดีย เรื่องนี้มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หากมีการโพสต์หรือแชร์ อาจได้รับโทษคือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับ ไม่เกิน 100,000 บาท อีกทั้งหากเป็นผู้ถือครองภาพโป๊เปลือยของเยาว์ชน ยังอาจได้รับโทษสูงขึ้นไปอีก แต่หากภาพที่เผยแพร่ได้มีการเซ็นเซอร์ เบลอ ส่วนที่ลามกอนาจารออกไปก็ถือว่าไม่ผิด
เทร็นด์การถ่ายรูปโชว์ก้นตามสถานที่ท่องเที่ยว
และสุดท้าย เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นการนำรูปภาพจากต่างประเทศมาเผยแพร่ หากผู้โพสต์ไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของภาพก่อน ก็อาจถูกเจ้าของภาพฟ้องร้อง ตามความผิดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 คือ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ด้วยเช่นกัน “ซึ่งในประเด็นที่สามนี้ ไม่ว่าจะขอหรือไม่ขอเจ้าของภาพก่อนเผยแพร่ขอมูลดังกล่าว แต่หากรูปภาพที่เผยแพร่นั้นไม่ได้รับการเซ็นเซอร์ก่อน ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อยู่ดี” ทนายเกิดผลกล่าว

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ