วันนี้ (4 กันยายน 2564) ที่ กรมควบคุมโรค จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 และประสิทธิผลวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย โดยนายแพทย์โอภาสกล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยติดเชื้อเพิ่มขึ้น 15,942 ราย เสียชีวิต 257 ราย แนวโน้มอยู่ในช่วงลดลง โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังต้องจัดระบบเฝ้าระวัง สอบสวนโรค ค้นหาผู้ป่วย ติดตามคนจากพื้นที่เสี่ยง ประชาชนเข้มมาตรการป้องกันส่วนบุคคลสูงสุดทุกที่ทุกเวลา แม้จะมีการผ่อนคลายเปิดกิจการกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ และขอให้ไปรับวัคซีนตามที่กำหนดจะช่วยควบคุมสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งวันที่ 3 กันยายน ฉีดวัคซีนได้ 925,627 โดส ถือว่าสูงที่สุด สะสม 35.2 ล้านโดส เป็นเข็มแรก 24.9 ล้านคน คิดเป็น 34% ของประชากร โดยกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดแล้ว 47.5% หลายจังหวัดเกือบถึงเป้าหมาย 70%
“กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า การจัดซื้อจัดหาวัคซีนทุกชนิดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล มีความโปร่งใสและไม่มีเรื่องเงินทอน เนื่องจากการส่งวัคซีนของจีนทุกครั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลกลางจีน ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องคอร์รัปชัน เช่นเดียวกับไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้าที่เป็นบริษัทระดับโลก หากมีเรื่องเงินทอนจริงคงไม่นิ่งเฉย และขออย่าด้อยค่าวัคซีนจนหลายคนกลัวไม่ไปฉีดโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทำให้หลายคนต้องเสียชีวิตก่อนรับวัคซีน ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนที่ผ่านมายังไม่มีรายใดเสียชีวิตจากวัคซีนโดยตรง ขอให้ไปรับวัคซีนตามที่กำหนด” นายแพทย์โอภาสกล่าว
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า การเจรจาจัดหาวัคซีนทุกตัวดำเนินการตั้งแต่ยังวิจัยไม่สำเร็จ การลงนามในสัญญาจึงไม่ใช่สัญญาตามแบบปกติ แต่ทั้งหมดทำตามกฎหมาย มีการปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุด และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อขอใช้งบในการซื้อทุกครั้ง ส่วนเรื่องราคาวัคซีนที่ประเทศไทยจัดซื้อมานั้น วัคซีนซิโนแวค ซื้อครั้งแรกในราคา 17 เหรียญต่อโดส แต่เมื่อมีการซื้อจำนวนมากต่อเนื่องราคาจึงลงมาอยู่ที่ราว 9 เหรียญ เมื่อเทียบกับวัคซีนเชื้อตายเหมือนกัน ราคาถูกกว่า 50% วัคซีนไฟเซอร์ก็ซื้อได้ถูกกว่า 50% เมื่อเทียบกับอีกบริษัท ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าราคาถูกกว่าวัคซีนทุกชนิดที่จัดหาได้ในประเทศ
ด้าน นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่รับนักท่องเที่ยวเข้ามาในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ข้อมูลถึงวันที่ 2 กันยายน 2564 มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 27,216 คน ซึ่งทั้งหมดต้องฉีดวัคซีนโควิด 19 ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่มากับผู้ปกครอง มีการตรวจหาเชื้อตั้งแต่วันแรกที่มาถึงและตรวจซ้ำอีก 2 ครั้ง พบผู้ติดเชื้อ 85 ราย คิดเป็น 0.31% ส่วนใหญ่ตรวจพบเชื้อใน 7 วันแรก ไม่มีอาการหรืออาการน้อย คนที่มีอาการรับการรักษาจนหายแล้ว 20 ราย ผู้ที่ติดเชื้อมีประวัติรับวัคซีนโควิดในทุกตัวที่ประเทศไทยกำหนด แสดงว่าไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใด ฉีดแล้วก็มีโอกาสติดเชื้อได้ ทั้งโควิชิลด์ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ไฟเซอร์ ซิโนฟาร์ม และโมเดอร์นา แต่ไม่มีใครป่วยรุนแรง และไม่เกิดปัญหาการแพร่เชื้อคนในพื้นที่และไม่กระทบระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข แม้ในภูเก็ตจะมีการติดเชื้อในพื้นที่ แต่ยังอยู่ในขีดความสามารถดูแลผู้ติดเชื้อได้ในทุกระดับอาการมากกว่า 28%
ส่วนคนเสียชีวิตจากโควิดใน จ.ภูเก็ต ช่วงเดือนกรฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา มี 12 ราย พบว่า 11 รายไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่เป็นสูงอายุและมีโรคประจำตัว อีก 1 รายรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม จะเห็นว่าคนภูเก็ตที่ส่วนใหญ่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มไม่มีผู้เสียชีวิตเลย ซึ่งเป็นการยืนยันถึงประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคจากโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ป้องกันป่วยรุนแรงและเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังมีรายงานการศึกษาพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ 90.5%ในสมุทรสาครช่วงเดือนมีนาคมที่เป็นสายพันธุ์จี และ 90.7% ใน กทม.และปริมณฑลช่วงเมษายน-พฤษาคมที่เป็นสายพันธุ์อัลฟา และบุคลากรทางการแพทย์ จ.เชียงราย ช่วงมิถุนายนที่เป็นสายพันธุ์อัลฟา 82.8% ต่อมามีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ทำให้ปรับเป็นการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าห่างกัน 3 สัปดาห์ ตั้งแต่กรกฎาคมเป็นต้นมา ฉีดสูตรนี้แล้วมากกว่า 2.5 ล้านคน มีผู้ติดโควิดเสียชีวิต 1 ราย อัตราเสียชีวิตถือว่าต่ำมาก (เท่ากับ 0.4 รายต่อล้านคน) เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งพบว่า 1 ล้านคน เสียชีวิตจากโควิด 132 คน ดังนั้น จากข้อมูลซิโนแวค 2 เข็มในภูเก็ตและสูตรไขว้ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า จึงสรุปได้ว่าวัคซีนนี้มีประโยชน์อย่างมากในระยะนี้ที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ส่วนแผนการจัดหาวัคซีนนั้น คาดว่าภายในสิ้นเดือนกันยายนมีวัคซีนมากกว่า 15 ล้านโดส จากซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 7.3 ล้านโดส ซึ่งอาจได้มากถึง 8 ล้านโดส และไฟเซอร์ 2 ล้านโดส ส่วนตุลาคมมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มเป็น 10 ล้านโดส ไฟเซอร์ 8 ล้านโดส และซิโนแวค 6 ล้านโดส รวมเป็น 24 ล้านโดส ขณะที่เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม มีเดือนละ 23 ล้านโดส เป็นแอสตร้าเซนเนก้าเดือนละ 13 ล้านโดส และไฟเซอร์เดือนละ 10 ล้านโดส จึงเป็นที่มาของการไม่ได้สั่งเพิ่มซิโนแวคในช่วงนั้น แต่สถานการณ์มีความไม่แน่นอน เช่น การส่งมอบวัคซีน หรือความจำเป็นของการฉีดวัคซีนในเด็กเมื่อมีผลการศึกษาแล้ว ซึ่งวัคซีนเชื้อตายยังเป็นวัคซีนที่ปลอดภัยที่สุดเมื่อเทียบผลข้างเคียงและประโยชน์ที่ได้รับ ก็มีโอกาสที่จะต้องสั่งเข้ามาเพิ่มตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยบริหารจัดการวัคซีนให้สอดคล้องกับจำนวนที่ได้รับในแต่ละเดือน เพื่อให้การฉีดเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โควิดกรุงเทพ เผยเขตที่ติดเชื้อสูงสุดช่วงปลายส.ค.-ต้นก.ย. กว่า 2,328 ราย
- กทม.ประกาศ ร้านเสริมสวย-ตัดผม ในห้างฯ ให้บริการได้ไม่เกินคนละ 2 ชม.
- จีนวอนหยุดด้อยค่าและใส่ร้ายวัคซีนจากจีนโดยไร้เหตุผล
Advertisement