การมีผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเข้ามาทำงานหรือพักอาศัยทดแทนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หายไปของไทย บรรเทาผลกระทบจากรายได้ภาคการท่องเที่ยวลดลง ขณะเดียวกัน ยังจูงใจให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีทักษะสูงด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เข้ามาเสริมศักยภาพในการพัฒนาประเทศ ด้วยเกิดการเชื่อมต่อเทคโนโลยี ถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ ยกระดับทักษะและสมรรถภาพ และเพิ่มโอกาสการจ้างงานให้กับแรงงานภายในประเทศ
ทั้งนี้ มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่มที่ชัดเจน คือ
1. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง
2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ
3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย
4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
อย่างไรก็ตาม แต่ละกลุ่มยังมีเงื่อนไขที่ต้องเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนและการพัฒนาประเทศไทย เช่น ลงทุนขั้นต่ำในพันธบัตรรัฐบาลไทยตั้งแต่ 2.5-5 แสนดอลลาร์สหรัฐ, มีหลักฐานการลงทุนในประเทศไทย, มีรายได้ขั้นต่ำ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
ธนกร เปิดเผยอีกว่า ในส่วน 2 แนวทางในการดำเนินมาตรการ ทั้งการกำหนดให้มีวีซ่าประเภทพิเศษ (Long-Term Visa) และการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องนั้น มุ่งขจัดอุปสรรคที่เป็นปัญหาของนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งมาตรการต่างๆ ยังถูกกำหนดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทุกๆ 5 ปี โดยสามารถยกเลิกหรือปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเหมาะสมกับการส่งเสริมการลงทุนจากทั่วโลกได้ ในส่วนการเช่าหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย ยังคงยึดหลักการตามมาตรการที่มีอยู่เดิม ไม่ได้เป็นไปตามที่บางกลุ่มพยายามบิดเบือนข้อมูลมาโจมตีรัฐบาล
ธนกรยัง กล่าวว่า โลกยุคหลังโควิดจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และทิศทางการพัฒนาทั่วโลก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการดึงดูดคนที่มีศักยภาพสูง นอกจากจะช่วยชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและการสูญเสียรายได้จากภาคการท่องเที่ยว ยังกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมก้าวหน้าในประเทศ โดยคาดการณ์ว่า ภายใน 5 ปี หากเพิ่มกลุ่มเศรษฐกิจสูง ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เข้ามาทำงานหรืออาศัยในไทยได้ 1 ล้านคน จะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภายในประเทศได้ 1 ล้านล้านบาท จากการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท รัฐบาลจะมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท จากการเก็บภาษีรายได้ส่วนบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเกี่ยวกับการลงทุน
“จึงอยากวิงวอนทุกฝ่ายเปิดใจให้กว้าง ศึกษามาตรการอย่างลึกซึ้ง พิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต ยืนยันว่าการดำเนินการทุกมาตรการของรัฐบาล โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจไทยหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพิ่มความสามารถในแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้ไทยสูญเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศอีกต่อไป จะเป็นการพลิกโฉมประเทศ” ธนกร ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ครม.เพิ่มวงเงิน 2 หมื่นล้าน โครงการบ้านล้านหลัง ธอส.ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ
- ราชกิจจานุเบกษา ลดค่าธรรมเนียม ออกบัตร ปชช., เปลี่ยนชื่อสกุล, จดทะเบียนสมรส, ขอทะเบียนบ้าน เหลือฉบับละ 1 บาท
- ธนาคารธอส. ช่วยลูกค้าน้ำท่วมฉับ ออก 7 มาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ให้กู้ซ่อม-สร้าง
Advertisement