"วิโรจน์" โพสต์เฟซบุ๊กแฉรัฐบาลรักษาการวางยาทิ้งทวนลักไก่เปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากเดิมที่จ่ายแบบถ้วนหน้า แต่ต้องมาพิสูจน์ความจน
วันที่ 14 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร" ในประเด็นการลักไก่เปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2566 ต้องมาพิสูจน์ความจน จากแต่เดิมที่จ่ายแบบถ้วนหน้า
โดยระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบกับสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรงมาก เพราะรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลักไก่ กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 เสียใหม่
โดยแต่เดิมการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะเป็นการจ่ายแบบถ้วนหน้า ผู้สูงอายุทุกคนได้รับ 600-1,000 บาทต่อเดือน (อายุ 60-69 ปี ได้ 600 บาทต่อเดือน 70-79 ปี ได้ 700 80-89 ได้ 800 90 ปีขึ้นไป ได้ 1,000) แต่ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 66 เป็นต้นไป ตามข้อที่ 6 (4) ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ เท่านั้นถึงจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
แม้ว่าในบทเฉพาะกาล ข้อที่ 17 จะระบุว่า ผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียน และรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนวันที่ 12 ส.ค. 66 ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป
แต่หลักเกณฑ์นี้ จะส่งผลกระทบกับสิทธิของประชาชนทุกคน ที่จะทยอยอายุครบ 60 ปี ในอนาคต นอกจากนี้ประชาชนที่จะมีอายุครบ 70 ปี 80 ปี 90 ปี ที่ต้องได้รับการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ ก็มีคำถามต่อว่า จะได้รับการปรับเพิ่มหรือไม่
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่แต่เดิมพอจะมีรายได้จุนเจือตนเองบ้าง ซึ่งตามหลักเกณฑ์ใหม่จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ หากในเวลาต่อมา รายได้ที่เคยดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ เกิดหดหายไป ผู้สูงอายุคนนั้นจะไปติดต่อขอรับเบี้ยยังชีพได้ที่ไหนอย่างไร
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ (60+ ปี) อยู่ 11 ล้านคน ทราบข่าวมาว่า จะมีการใช้ฐานข้อมูลบัตรคนจน ในการพิจารณาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพียงแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น โดยผู้สูงอายุอีก 6 ล้านคน จะถูกรัฐลอยแพ
ที่สำคัญ คือ เราก็รู้อยู่แล้วว่าฐานข้อมูลของบัตรคนจน นั้นมีความมั่วอยู่พอสมควร มีคนจนถึง 46% ที่ไม่ได้รับบัตร ในขณะที่ 78% ของคนที่ถือบัตร เป็นคนที่ไม่ยากจนแต่อยากจน ข้อมูลตกหล่นมากมายแบบนี้ แล้วจะเอามาใช้เป็นเกณฑ์ในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อย่างไร
นอกจากนี้ ในมาตรา 11 (11) ของ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ได้กำหนดเอาไว้ว่า การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุจะต้องจ่ายเป็นรายเดือน โดยต้องจ่ายให้ทั่วถึง และเป็นธรรม ซึ่งก็มีประเด็นว่า การบังคับให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน นั้นอาจเป็นการกีดกันประชาชนไม่ให้ได้รับสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งขัดกับ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ก็เป็นได้
การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุในครั้งนี้ ถือเป็นการลักไก่ของรัฐบาลรักษาการ ที่แย่มากๆ เป็นการวางยาทิ้งทวน ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งโดยปกติวิสัยของรัฐบาลรักษาการ นั้นไม่ควรทำ ซึ่งประชาชนคงต้องจับตาดูต่อไป ว่ารัฐบาลที่กำลังจะเข้ามารับไม้ต่อ จะจัดการอย่างไรกับหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับนี้.
Advertisement