ในส่วนของ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ขอยืนยันว่า ยังไม่เคยเห็นหนังสือดังกล่าวเสนอขึ้นมารายงานให้ทราบ แต่เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริง จะเร่งดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว และดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป
อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ขอยืนยันว่าได้ดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอน ตามหลักวิชาการ และเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง เร่งสั่งการให้ทุกจังหวัดตรวจสอบลงพื้นที่ พร้อมประเมินความเสี่ยง และขอความร่วมมือเกษตรกรในการสังเกตและเฝ้าระวังโรค โดยสามารถรายงานหรือขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอในทุกพื้นที่ หรือที่ Application: DLD 4.0 ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะเดียวกัน ได้สั่งการด่วนจัดชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง สุ่มตรวจเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น โดยในวันที่ 8 มกราคม 2565 สุ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดราชบุรี โดยการเฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างจำนวน 6 ฟาร์ม รวม 196 ตัวอย่าง และวันที่ 9 มกราคม 2565 สุ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดนครปฐม โดยการเฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างจำนวน 4 ฟาร์ม 2 โรงฆ่ารวม 114 ตัวอย่าง เพื่อเข้าไปสำรวจโรคและเก็บตัวอย่างจากเลือดสุกร นำไปตรวจหาโรค โดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม ประธานภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ Thailand Veterinary Dean Consortium (TVDC) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำหนังสือถึง นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เรื่อง ข้อห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมโรคในสุกร ระบุว่า
เนื่องจาก ตามที่ปรากฏการตายของสุกรเป็นจำนวนมากในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยมาระยะหนึ่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขนาดกลางและขนาดเล็ก ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศไทยทั้ง 14 สถาบัน มีความกังวลกับสถานการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับได้รับคำถามเป็นจำนวนมาก จากเกษตรกรและประชาชน ถึงสาเหตุและแนวทางในการแก้ไข
ทั้งนี้ จากการตรวจวินิจฉัยโรคโดยหน่วยงาน ของสถาบันการศึกษาสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศไทย พบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Afican Swine Fever: ASF) ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค และได้รายงานการตรวจพบโรคต่อกรมปศุสัตว์ตามข้อกำหนด ของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 แล้วนั้น
ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย จึงขอให้กรมปศุสัตว์พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน เพื่อมีให้เกิดความเสียหาย ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นแก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทย และพร้อมสนับสนุนทางวิชาการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สร้างความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ที่ดีของวิชาชีพสัตวแพทย์ของประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Advertisement