รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่าหนึ่ง "โรค COVID-19 มีอัตราป่วยตายสูงกว่าไข้หวัดใหญ่" แม้ Omicron จะรุนแรงน้อยลงกว่าเดิม แต่อัตราป่วยตายของโควิด-19 ยังสูงกว่าไข้หวัดใหญ่ราว 1.6 เท่า หากดูจากข้อมูลในสหราชอาณาจักร
ในขณะที่จำนวนการตายจากโควิด-19 ทั่วโลกนั้นก็สูงมากในแต่ละวัน หากเปรียบเทียบจำนวนการตายจากโควิด-19 กับจำนวนการตายจากไข้หวัดใหญ่ในบางประเทศที่มีการติดเชื้อจำนวนมา เช่น สหรัฐอเมริกา จะพบว่าสูงกว่าถึง 100 เท่าเลยทีเดียว
ดังนั้นปัจจุบัน หากดูตามข้อมูลวิชาการจึงฟันธงว่า COVID-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา และไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่
สอง "การติดเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต"
การศึกษาในสหรัฐอเมริกาในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ ชี้ให้เห็นว่าหลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 และรักษาหายแล้ว คนที่ติดเชื้อนั้นก็ยังเสี่ยงต่อการเป็นปัญหาเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือด ราว 20 ชนิด ในช่วง 12 เดือนถัดมา อาทิ หัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจหยุดเต้น โรคหลอดเลือดสมอง ลิ่มเลือดอุดตันในปอดและหลอดเลือดต่างๆ เป็นต้น
ทั้งนี้พบว่า คนที่เคยติดเชื้อจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนไม่ติดเชื้อ 52% และมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาหัวใจล้มเหลวมากกว่าคนไม่ติดเชื้อ 72%
โดยเฉลี่ยแล้ว ในกลุ่มคนที่เคยติดเชื้อ 1,000 คน จะมี 45 คนที่มีปัญหาหัวใจและหลอดเลือดข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลา 12 เดือนหลังการติดเชื้อ
ข้อมูลวิชาการข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ประวัติการติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อนนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต และถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของภาวะ Long COVID ที่จะเป็นผลกระทบระยะยาวต่อตัวคนที่ติดเชื้อ ครอบครัว และสังคม
การป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด พรุ่งนี้วันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรัก ขอให้ระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อแพร่เชื้อโควิด-19 หากออกไปฉลอง ไปกินดื่ม และอื่นๆ
Happy Sunday Morning ครับ
Advertisement