หมอธีระ เผย Long COVID มีโอกาสเกิด 20-40% กระทบครอบครัว-สังคมระยะยาว มีกลไกการเกิด 5 กลไก อาการเกิดขึ้นได้ตั้งแต่หลายเดือนไปเป็นปี
เมื่อวันที่ 24 เมษายน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงภาวะผิดปกติหลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่เรียกว่า "Long COVID" โดยระบุว่า
24 เมษายน 2565 ทะลุ 509 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 542,456 คน ตายเพิ่ม 1,527 คน รวมแล้วติดไปรวม 509,057,806 คน เสียชีวิตรวม 6,241,856 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ อิตาลี และญี่ปุ่น
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 83.63 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 81.4 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 33.34 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 36.28
สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ทั้งนี้จำนวนคนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 23.41% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ภาวะผิดปกติหลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่เรียกว่า "Long COVID" หรือ "Post-COVID Syndrome" นั้นจะเป็นปัญหาระยะยาว ทั้งต่อคนที่เป็น สมาชิกในครอบครัว/คนรัก/คนใกล้ชิด ที่ทำงาน และสังคม เกิดขึ้นได้ทั้งคนที่เคยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง โอกาสเกิดราว 20-40% ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูง
ยิ่งหากประเทศใดมีคนติดเชื้อมาก โอกาสเจอผู้ป่วยระยะยาวที่เป็น Long COVID ก็ยิ่งมากเป็นเงาตามตัว แม้มีงานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนครบ จะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะ Long COVID ลงได้ราว 40% แต่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีนที่ใช้ และถึงแม้จะลดความเสี่ยงลงได้บ้าง แต่พอคูณเป็นจำนวนผู้ป่วยจริง (absolute number) ที่จะเกิดขึ้นก็ยังคงมหาศาล
ล่าสุดมีงานวิจัยจาก Taquet M และทีมงาน เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Brain, Behavior, and Immunity วันที่ 22 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา โดยทำการศึกษาแบบเปรียบเทียบย้อนหลังในประชากรของสหรัฐอเมริกาที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วงมกราคมถึงสิงหาคม 2564 ที่มีประวัติได้รับและไม่ได้รับวัคซีน จำนวนราวกลุ่มละ 10,000 คน พบว่าอัตราการเกิด Long COVID ไม่ได้แตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่ได้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีน อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการวิจัยขนาดใหญ่ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ ถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะได้รับวัคซีนมาแล้วหรือไม่ก็ตาม
Long COVID เกิดได้ทุกเพศ ทั้งชายและหญิง ทุกวัย ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต วัยทำงาน และคนสูงอายุ เพศหญิงเสี่ยงกว่าเพศชาย ผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก ป่วยปานกลางและรุนแรง เสี่ยงกว่าป่วยน้อยและไม่มีอาการ แต่ทุกประเภทจะเกิด Long COVID ได้ทั้งสิ้น
1. การมีการติดเชื้อในร่างกายแฝงอยู่ในเซลล์ของอวัยวะต่างๆ (persistent infection)
2. การติดเชื้อทำให้เกิดกระบวนการอักเสบระยะยาวเรื้อรัง (chronic inflammatory process)
3. การติดเชื้อทำให้เกิดการทำงานอวัยวะ/ระบบต่างๆ ของร่างกายที่ผิดปกติไปจากเดิม (organ dysfunction from viral infection)
4. การติดเชื้อทำให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง (autoantibody)
5. การติดเชื้อทำให้เกิดการเสียสมดุลของเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในร่างกาย โดยเฉพาะในทางเดินอาหาร และส่งผลต่อความผิดปกติของอวัยวะและระบบต่างๆ ตามมา (Dysbiosis)
Long COVID เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายแทบทุกระบบ ตั้งแต่สมอง/ระบบประสาท มีตั้งแต่ความจำเสื่อม คิดวิเคราะห์ลำบากหรือสมรรถนะถดถอยลงกว่าปกติ ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ ปัญหาการนอนหลับ และความผิดปกติทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า เครียดวิตกกังวล อารมณ์แปรปรวนไปจนถึงระบบอื่น
ที่หนักหนาและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นคือ ปัญหาด้านหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่กล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อบุหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจขาดเลือด หัวใจหยุดเต้น รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง และการอุดตันของหลอดเลือดตามที่ต่างๆ ระบบหายใจมีปัญหา ทำให้เหนื่อยง่าย หอบเหนื่อย เพราะมีความผิดปกติของสมรรถนะของปอดและการแลกเปลี่ยนออกซิเจน
ระบบต่อมไร้ท่อ จะเกิดความผิดปกติ ได้แก่ การเกิดโรคเบาหวานในคนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมถึงคนที่เคยเป็นเบาหวานมาก่อนก็ประสบปัญหาคุมโรคได้ยากมากขึ้น และปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศ
อาการทางระบบอื่นของร่างกาย ได้แก่ อ่อนเพลียอ่อนล้าจนทำงานไม่ไหว ออกกำลังกายไม่ไหว ผมร่วง และอาการปวดที่ต่างๆ ตามร่างกายทั้งกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ
อาการเกิดขึ้นได้ตั้งแต่หลายเดือนไปเป็นปี หรือเป็นแบบถาวร ขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่เกิดขึ้น ยังไม่มีวิธีป้องกันหรือรักษาแบบเฉพาะเจาะจง นอกจากการป้องกันตนเองและครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อ
การป้องกันที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลคือ "ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น"
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-หมอธีระ แนะจับตาหลังสงกรานต์ ป่วยใหม่อาจพุ่ง 2-3 เท่า เผยโควิดทำอายุขัยเฉลี่ยสั้นลง
- หมอธีระ เผยยอดติดเชื้อรวม ATK ไทยพุ่งอันดับ 7 ของโลก ห่วงผลกระทบ Long COVID
- มาใหม่! WHO ประกาศเฝ้าระวัง โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย“BA.4” และ “BA.5” จากเดิม 4 สายพันธุ์
Advertisement