งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์กรมประมง พบประชากร ปลาหมอสีคางดำ ที่แพร่ระบาดในไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน มีความคล้ายคลึงทางพันธุกรรม และไม่ได้นำเข้ามาหลายครั้ง อาจเป็นหลักฐานเอาผิดผู้ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในไทย
หลังจากมีการแพร่ระบาดอย่างหนักของ ปลาหมอคางดำ หรือ ปลาหมอสีคางดำ ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย จนเกิดการสั่งให้ไล่ล่าแบบจับตายเพื่อป้องกันการรุกรานสัตว์น้ำท้องถิ่นจนสูญพันธุ์และป้องกันระบบนิเวศทางน้ำจะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง
รู้จัก ปลาหมอคางดํา หรือ ปลาหมอสีคางดํา เอเลี่ยนผู้รุกรานแหล่งน้ำไทย
• ปลาหมอคางดำ หรือ ปลาหมอสีคางดำ มาจากบริษัทเอกชนนำเข้า หรือมาจากกลุ่มเลี้ยงปลาหมอสีสวยงามกันแน่
ทั้งนี้ มีรายงานว่า เมื่อปี 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) มีมติอนุญาตให้บริษัทเอกชนรายใหญ่ นำเข้าปลาหมอคางดำ หรือ ปลาหมอสีคางดำ จากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข ต่อมาในปี 2553 บริษัทเอกชนรายนี้ ได้นำเข้าปลาหมอสีคางดำ จำนวน 2,000 ตัว โดยมีศูนย์ทดลองอยู่ที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จากนั้นปลาหมอสีคางดำได้ทยอยตายเกือบทั้งหมด บริษัทจึงทำลายและฝังกลบซากปลาแล้วแจ้งให้กรมประมงทราบด้วยวาจาโดยไม่ได้จัดทำรายงานอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งปี 2555 เกษตรกรในจังหวัดสมุทรสงคราม ได้พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ หรือ ปลาหมอสีคางดำเป็นครั้งแรก
เปิดที่มาที่ไป ปลาหมอคางดํา หรือ ปลาหมอสีคางดํา เข้าไทยอย่างไร มาตั้งแต่ตอนไหน
อย่างไรก็ตาม บนโลกออนไลน์มีกระแสว่า ปลาหมอคางดำ หรือ ปลาหมอสีคางดำ มีบุคคลบางกลุ่มพยายามเบี่ยงเบน อ้างว่า ปลาหมอคางดำ หรือ ปลาหมอสีคางดำ ที่ระบาดเพราะมีการนำเข้าจากกลุ่มเพาะเลี้ยงปลาหมอสีสวยงาม จนทำให้หลายคนสับสนหรือสงสัยว่าตกลงเรื่องนี้เป็นอย่างไรกันแน่
เมื่อสืบค้นข้อมูลพบว่า เมื่อปี 2565 กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด ได้ทำการวิจัยเรื่อง "การวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดําในเขตพื้นที่ชายฝั่งของไทยจากโครงสร้างพันธุกรรมของประชากร" ซึ่งผลสรุปออกมาว่า ประชากรปลาหมอสีคางดำที่แพร่ระบาดในประเทศไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน
• รู้ได้อย่างไรว่า ปลาหมอคางดำ หรือ ปลาหมอสีคางดำ มีแหล่งที่มาร่วมกัน
เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์กรมประมง ได้ทำการรวบรวมตัวอย่างจากพื้นที่แพร่ระบาดรวม 7 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม เพชรบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี โดยสุ่มตัวอย่างโดยวิธีสำรวจจากผลจับและสอบถามจากชาวประมงตามท่าขึ้นปลาต่างๆ ควบคู่กับการสุ่มตัวอย่างโดยใช้เครื่องมือแห ข่าย ลอบ โดยกำหนดพื้นที่สำรวจ 2 จุดสำรวจในทุกๆ รัศมีระยะ 100 กม. จากจุดแรกที่พบรายงานการแพร่กระจาย คือ คลองยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
จากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ Mitochondrial DNA ด้วยการสกัดดีเอ็นเอปลาหมอสีคางดำทั้งหมด ตัดแบ่งส่วนของเนื้อเยื่อปลาตามปริมาณที่ต้องการ แล้วบดเนื้อเยื่อให้ละเอียด นำดำเนินการตามขั้นตอนวิทยาศาสตร์ ผลการศึกษาพบว่า โดยทั่วไปค่าความหลากหลายของประชากรสัตว์น้ำต่างถิ่นจะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับ 2 ปัจจัย คือ ปริมาณสัตว์น้ำต่างถิ่นที่นำเข้า และจำนวนครั้งของสัตว์น้ำต่างถิ่นที่นำเข้ามาในประเทศ ซึ่งผลการศึกษาโดยเครื่องหมายพันธุกรรม Microsatellite DNA พบว่า ค่าความหลากหลายทางพันธุกรรมของปลาหมอสีคางดำในประเทศไทยไม่แตกต่างจากประชากรธรรมชาติในแอฟริกาตะวันตก
ระยะห่างทางพันธุศาสตร์ เป็นค่าที่มีประโยชน์ในการจัดกลุ่มประชากร โดยระยะห่างทางพันธุศาสตร์ระหว่างกลุ่มตัวอย่างจะสัมพันธ์กันทางพันธุกรรม กล่าวคือ หากมีค่าต่ำ หมายถึงกลุ่มตัวอย่างทั้งสองมีความสัมพันธ์กันทางพันธุกรรม แต่หากมีค่าสูง หมายถึงมีความแตกต่างทางพันธุกรรมระหว่างกลุ่มตัวอย่าง ในการศึกษาครั้งนี้ พบค่าระยะห่างทางพันธุศาสตร์ของประชากรปลาหมอสีคางดำที่พบแพร่กระจายมีค่าต่ำมากคืออยู่ระหว่าง 0.00085-0.00358 แสดงให้เห็นว่า ประชากรไม่มีความแตกต่างกันทางพันธุกรรมมากนัก
• การแพร่กระจายของ ปลาหมอคางดำ หรือ ปลาหมอสีคางดำ บ่งชี้ว่าน่าจะเกิดจากมนุษย์
ผลการศึกษาเห็นได้ชัดว่า ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างระยะห่างทางภูมิศาสตร์และระยะห่างทางพันธุกรรมของกลุ่มตัวอย่าง เมื่อศึกษาด้วยเครื่องหมายพันธุกรรม Microsatellite DNA พูดให้เห็นชัดเจนคือ ปลาหมอคางดำจากเพชรบุรีและสมุทรสงคราม ซึ่งจังหวัดตั้งอยู่ใกล้กันมีระยะห่างทางพันธุศาสตร์สูง ในทางกลับกันปลาหมอคางดำจากระยองและประจวบคีรีขันธ์ซึ่งมีระยะทางห่างกันมาก พบระยะห่างทางพันธุศาสตร์น้อยที่สุด (ค่ายิ่งต่ำเท่าไหร่ยิ่งมีความสัมพันธ์กันทางพันธุกรรม)
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงชี้ให้เห็นว่า กลไกการแพร่กระจายของปลาหมอสีคางดำที่แพร่ระบาดไปยังจังหวัดต่างๆ ซึ่งอยู่ห่างออกไป น่าจะเกิดจากการกระทำของมนุษย์ มากกว่าการแพร่กระจายเองตามธรรมชาติ ซึ่งอาจจะโดยตั้งใจนำไปทดลองเพาะเลี้ยงแล้วหลุดรอดลงแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือติดไปกับพันธุ์สัตว์น้ำอื่นโดยไม่ตั้งใจ เนื่องจากพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งอย่างหนาแน่น
• สรุปผลการศึกษา เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ หรือ ปลาหมอสีคางดำ
กลุ่มประชากรปลาหมอสีคางดำที่พบแพร่กระจายในประเทศไทย ประกอบด้วยตัวอย่างจากทุกจังหวัดที่พบการระบาด ชี้ให้เห็นการมีแหล่งที่มาร่วมกัน มีความคล้ายคลึงกันทางพันธุกรรม เนื่องจากมีระยะห่างทางพันธุศาสตร์ของแต่ละกลุ่มย่อยจากแต่ละจังหวัดมีค่าต่ำมาก และความแตกต่างระหว่างกลุ่ม haplotype อยู่ในระดับการเปลี่ยนแปลงเพียง 1-2 ลำดับเบสเท่านั้น น่าจะเกิดจากปลาที่นำไปปล่อยในพื้นที่ใหม่มีจำนวนน้อย และขาดการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมระหว่างประชากร มากกว่าเกิดจากการนำเข้าหลายครั้ง
ทั้งนี้ ผลจากการวิเคราะห์โครงสร้างพันธุกรรมของประชากรปลาหมอสีคางดำที่แพร่กระจายในเขตพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทย จะช่วยตอบโจทย์เส้นทางการระบาด กลไกและปัจจัยสนับสนุนการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ รวมถึงบ่งชี้แนวโน้มแหล่งที่มาที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ และสามารถนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการกำหนดมาตรการควบคุม ป้องกัน และกำจัดปลาหมอสีคางดำ ออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงเป็นแนวทางในการควบคุม และป้องกันการแพร่กระจายสำหรับพืชน้ำหรือสัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดอื่นๆ ต่อไป
ตลอดจนสามารถพัฒนาเทคนิคที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้เพื่อปรับใช้ในการสืบสวนสอบสวน เพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมาย การสืบหาแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่รุกรานในแหล่งน้ำธรรมชาติ กรณีที่ต้องมีการชดใช้ค่าเสียหายจากผู้ปล่อยสัตว์น้ำ เมื่อเกิดการระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือสัตว์ที่มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป
Advertisement