สธ. แถลง ไทยเริ่มผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศแล้ว เป็นวัคซีนที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก AstraZeneca กำลังผลิตปีละ 200 ล้านโดส ล็อตแรกส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2564 รวมถึงสั่งซื้อวัคซีน Sinovac จากจีน 2 ล้านโดส ส่งมอบในเดือนกุมภาพันธ์ 200,000 โดส เดือนมีนาคม 800,000 โดส และเดือนเมษายน 1 ล้านโดส ตั้งเป้าฉีดให้คนไทยฟรี 70 ล้านโดส
ความคืบหน้า วัคซีนโควิด-19 ได้รับการเปิดเผยจาก นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะได้รับวัคซีนในเวลาไม่ช้ากว่าประเทศส่วนใหญ่ โดยตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด 19 เพื่อคนไทย ได้เตรียมการหาข้อมูล วางเป้าหมาย วิธีการทำงาน มีกลไกต่างๆ ที่จะทำให้ได้วัคซีนมา ตั้งแต่ยังไม่ทราบผลการวิจัยวัคซีนชนิดใดที่จะประสบความสำเร็จ ตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนให้คนไทยโดยรัฐ ฟรี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชากร หรือประมาณ 70 ล้านโดส โดยได้ทำสัญญาจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าจำนวน 26 ล้านโดสกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งใช้เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ขณะนี้ อยู่ระหว่างถ่ายทอดกระบวนการผลิตให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ คาดว่าจะเริ่มทยอยส่งมอบได้ภายในปลายเดือนพฤษภาคม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คนไทยเฮ! อนุทินเผยข่าวดี ก.พ.64 เริ่มรับวัคซีนโควิด 2 ล้านชุด
- นายกฯ ลงนามจองซื้อวัคซีนโควิด-19 คนไทยได้ใช้ปี 64
- จุฬาฯ ชวนคนไทย 1 ล้านคน บริจาคคนละ 500 บาท หนุนวิจัยวัคซีนโควิด
อีกร้อยละ 30 อยู่ระหว่างการเจรจากับ COVAX Facility ทำข้อตกลงกับบริษัทผลิตวัคซีนที่คาดว่ามีโอกาสนำมาใช้ได้ รวมทั้งได้เจรจากับบริษัทอื่นๆ เช่น ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, บริษัทจากประเทศจีน หรืออาจขอซื้อเพิ่มจากแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อให้ได้วัคซีนตามเป้าหมาย นอกจากนี้ มีข่าวดีว่าจะได้รับวัคซีนจากบริษัทซิโนแวค ประเทศจีน 2 ล้านโดส โดยได้รับปลายเดือนกุมภาพันธ์ประมาณ 200,000 โดส ปลายเดือนมีนาคม 800,000 โดส และปลายเดือนเมษายนอีก 1 ล้านโดส
นายแพทย์ศุภกิจกล่าวต่อว่า ณ เวลานี้วัคซีนมีจำนวนไม่มาก แม้แต่ประเทศที่เริ่มฉีดแล้วก็เริ่มทยอยฉีด
ไม่สามารถฉีดพร้อมกันได้ในครั้งเดียว ไม่ใช่สินค้าที่จะหาซื้อได้ทั่วไปในตลาด ที่สำคัญคือจะต้องมีระบบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย จะไม่มีการซื้อวัคซีนจากโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีผลการทดลองเฟส 3 รองรับ บริษัทเอกชนที่จะนำมาจำหน่ายต้องขึ้นทะเบียนกับ อย. ที่สำคัญคือทุกล็อตที่จะออกสู่ท้องตลาดต้องได้รับการรับรองคุณภาพจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งไทยมีกลไกการพิจารณาของ
คณะกรรมการฯ ผ่านกระบวนการที่ยืนยันว่ามีมาตรฐานเพียงพอ ให้เกิดความมั่นใจว่าให้คนไทยได้วัคซีนเร็ว และปลอดภัย รวมทั้งเมื่อได้รับวัคซีนมาแล้ว จะดำเนินการตามหลักการบริหารจัดการวัคซีน มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย วิธีการในการให้วัคซีน การเตรียมสถานบริการ การควบคุมคุณภาพ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
ทั้งนี้ ในส่วนภาคเอกชนจะนำเข้าวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ไม่ได้มีการปิดกั้นแต่อย่างใด โดยต้องนำเข้าวัคซีนที่มีมาตรฐานปลอดภัย ซึ่งก่อนหน้านี้มีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งโฆษณาเรื่องวัคซีนและมีการเรียกเก็บเงินก่อน ซึ่งผิดระเบียบ อย. ที่ห้ามโฆษณาเกินจริง
Advertisement