"สาธิต" รมช.สาธารณสุข ยืนยันวัคซีนซิโนแวคปลอดภัยสูง เช่นเดียวกับแอสตร้าเซนเนก้าขอประชาชนเชื่อมั่น ฉีดกลุ่มเสี่ยงใน 5 จว.ควบคุมสูงสุดก่อน
วานนี้(18 ม.ค.64) นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ตอบกระทู้ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรณีความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยรัฐบาลได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ และจะต้องฉีดให้คนไทยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง ตามความจำเป็นและการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และรัฐบาลได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนตั้งแต่เดือนส.ค.63 ที่ผ่านมา ภายใต้การจัดหาของสถาบันวัคซีนของไทย
รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้มีการเจรจาพูดคุยเกือบทุกบริษัท ทั้ง ไฟเซอร์ของสหรัฐฯ แอสตร้าเซนเนก้าของอังกฤษ สปุตนิกของรัสเซีย และซิโนแวคของจีน ท้ายที่สุดไทยได้มีข้อตกลงกับ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ที่ร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียว เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ และผลิตวัคซีนที่มีความน่าเชื่อถือ โดยทุกบริษัทที่ผลิตวัคซีนล้วนมีประสบการณ์และคุณภาพ โดยมีข้อตกลงซื้อ 26 ล้านโดส และมีข้อตกลงเพิ่มอีก 35 ล้านโดส ครอบคลุมคนไทย 30 ล้านคน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไขข้อสงสัย! ทำไมผู้สูงวัย-บุคคลากรแพทย์ ได้ฉีควัคซีนโควิดก่อน
- นายกฯ ย้ำไทยไม่ใช่ประเทศ "หนูทดลอง" วัคซีนโควิดต้องปลอดภัยก่อนฉีดให้ ปชช.
- สธ.เคาะแผนฉีดวัคซีน ล็อตแรก ก.พ.-เม.ย. กลุ่มเสี่ยงเว้นคนท้อง-เด็กต่ำกว่า 18 พบแพ้หนักหยุดฉีดทันที
- เปิด 4 กลุ่มแรก ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 2 เข็ม ห่าง 1 เดือน เริ่ม ก.พ.นี้
ส่วนข้อตกลงกับบริษัท ซิโนแวค ของจีน วัคซีนจะมาถึงไทยในเดือนก.พ. ล็อตแรก 2 แสนโดส มี.ค. 8 แสนโดส และเม.ย. 1 ล้านโดส ซึ่งไทยกำลังเตรียมแผนการกระจายวัคซีนไปยังกลุ่มเป้าหมายแรก ได้แก่ ผู้ที่มีความเสี่ยง มีโรคประจำตัว หรือมีอายุสูงกว่า 60 ปี และบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่เสี่ยง โดยจะเริ่มในพื้นที่ 5 จังหวัด ควบคุมสูงสุดเข้มงวดพิเศษ
นายสาธิต กล่าวย้ำกรณี ความกังวลในคุณภาพวัคซีน ยืนยันว่าวัคซีนจากทั้ง 2 บริษัท มีประสิทธิภาพและราคาไม่แพง ซึ่งกระแสข่าวว่าวัคซีนของซิโนแวค นั้นมีประสิทธิภาพค่ากลางทั่วไปเพียง 50% นั้น ข้อเท็จจริงคือวัคซีนของดังกล่าวมีความปลอดภัยสูงมาก มีการฉีดให้ประชากรของจีนแล้ว 5 ล้านคน และมีข้อมูลยืนยันสามารถป้องกันการมีอาการรุนแรงของผู้ป่วยได้ถึง 100% ป้องกันการมีอาการป่วยเล็กน้อย 78% และป้องกันผู้มีอาการน้อยมาก 50.4 % โดยมีข้อได้เปรียบคือได้ทดลองกับบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีความเสี่ยง ทำให้มีความแตกต่างจากบริษัทอื่น ขณะที่ของเจ้าอื่นๆ เช่น ไฟเซอร์มีข้อมูลยืนยันสามารถป้องกันการมีอาการรุนแรงของผู้ป่วยได้ 100% เช่นกัน แต่ป้องกันผู้ป่วยมีอาการได้ 94% อย่างไรก็ดีความแตกต่างของประสิทธิภาพและการทดลองก็ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีและการทดลองของแต่ละบริษัท
โดยแผนการกระจายวัคซีนของซิโนแวค จะสอดคล้องกับแผนการได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ในเดือน มิ.ย.- ส.ค. ยืนยันว่าวัคซีนไม่ใช่เรื่องการเมือง เป็นเรื่อของทุกรัฐบาลที่ดำเนินการให้ได้วัคซีนที่มีประสทธิภาพและปลอดภัย เข้าถึงประชาชนทุกคน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
Advertisement