สธ.เผยผลสอบสวนเบื้องต้น ผู้ป่วยเส้นเลือดโป่งพอง เสียชีวิตจากโรคประจำตัว ไม่เกี่ยวข้องกับ วัคซีนโควิด
วันนี้ (26 มี.ค.64) เวลา 11.00 น. กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวผลการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดย นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ
สธ.พบผู้ป่วยเส้นเลือดโป่งพองแตก เสียชีวิตหลังฉีด วัคซีนโควิด เร่งสอบสวนโรค
นพ.ทวี กล่าวว่า คณะกรรมการสอบสวนเบื้องต้นได้ส่งข้อมูล พบว่า ผู้เสียชีวิตเป็นผู้ป่วยชาย มีโรคประจำตัว คือ หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เข้ารับการผ่าตัดที่ รพ.แห่งหนึ่ง เมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล 40 วัน ก่อนกลับไปพักฟื้นที่บ้าน 1 สัปดาห์ จากนั้นไปฉีดวัคซีนเมื่อ 3 มี.ค.เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงคือผู้มีโรคประจำตัว โดยหลังฉีดวัคซีนพบมีอาการปกติดี
ซึ่งจากการติดตามอาการ ผู้ป่วยแจ้งว่าในช่วงวันที่ 1 และ 3 อาการปกติ ต่อมาวันที่ 7 ผู้ติดตามไม่สามารถติดต่อผู้ป่วยได้ กระทั่งวันที่ 8 และ 9 หลังฉีดวัคซีน ผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ เป็นลม จึงแอดมิดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง
ภายหลังแอดมิด ผู้ป่วยอาการทรุดลงและเสียชีวิตในวันที่ 13 มี.ค.64 แพทย์สรุปว่า ผู้ป่วยรายนี้น่าจะเสียชีวิตจากหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง และมีอาการแตก หรือรั่ว ซึ่งเป็นโรคประจำตัว โดยโรคนี้เหมือนระเบิดเวลาที่ฝังอยู่ในร่างกาย แต่ผู้ป่วยคนดังกล่าวบังเอิญไปฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อ 10 วันก่อนหน้านี้ ทางการแพทย์และคณะผู้เชี่ยวชาญ จึงสรุปว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน
ทั้งนี้สำหรับโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เป็นเส้นเลือดที่ออกมาจากหัวใจ เป็นท่อหลักที่มีเส้นใหญ่มาก และแตกแขนงไปเลี้ยงสมอง แขน ขา ซึ่งเส้นเลือดมีลักษณะพาดไปที่ช่องอก ช่องท้อง และแตกแขนงอยู่ที่ขาทั้งสองข้าง
หลอดเลือดที่โป่งพองเป็นความผิดปกติ เกิดขึ้นใน 1.กลุ่มผู้ที่มีอายุมาก เนื่องจากร่างการเสื่อมตามสภาพ 2.เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันสูง 3.ผู้มีไขมันในเลือดสูง ผู้ที่สูบบุหรี่ และ 4.ส่วนน้อยมาจากความพิการตั้งแต่กำเนิด ซึ่งโรคนี้เหมือนระเบิดเวลาที่ซ่อนในร่างกาย ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และหลายรายตรวจพบโดยบังเอิญ เช่น เอ็กซเรย์ ซีทีสแกนหลังเจ็บหน้าอก เจ็บหลัง ปวดท้องเฉียบพลัน
ในการรักษาหากเป็นก้อนเล็ก ๆ ให้เฝ้าระวังและลดความเสี่ยงต่าง ๆ หากเป็นก้อนใหญ่อาจใส่หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดเทียม หากแตกแล้วต้องผ่าตัดทันที และมีความเสี่ยงเสียชีวิต
ในส่วนของผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน นพ.ทวี ระบุว่า พบผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แบ่งเป็น ชนิดไม่รุนแรง โดยยกตัวอย่างตนเองมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดประมาณครึ่งวัน แต่ยังสามารถทำงานได้ ใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ยังต้องมีการรายงานอาการ ส่วนผลข้างเคียงหากเกี่ยวข้องกับทางสมอง ชัก ถือว่าผลข้างเคียงรุนแรง และต้องมีการพิสูจน์
ยกตัวอย่างวัคซีน Sinovac พบผลข้างเคียงชนิดไม่รุนแรง 20-30% ส่วนผลข้างเคียงรุนแรง 0.7% ยืนยันว่าวัคซีนที่ไทยใช้ทั้ง 2 ตัวมีความปลอดภัย ส่วนอาการแพ้ แย่งเป็นชนิดไม่รุนแรง เช่น ผื่น คัน แต่สิ่งที่กังวลคืออาการแพ้รุนแรง โดยจะมีอาการทันที เช่น แน่นหน้าอก เหนื่อย ปวดท้อง อาเจียน ซึ่งพบได้น้อย อย่างวัคซีนไฟเซอร์พบ 11 : 1 ล้านโดส ส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายใน 15 นาทีหลังฉีดวัคซีน
นพ.โสภณ ระบุว่า จากข้อมูลทั่วโลก ยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากอาการแพ้วัคซีน ไม่ว่าจะยี่ห้อใดก็ตาม และในไทยเองก็พบอาการแพ้รุนแรงน้อยมาก
Advertisement