โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์เข้าถึงสื่อการสอนของไมโครซอฟท์ และนำมาถ่ายทอดแก่นักศึกษา ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมให้เกียรติเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเป็นพันธมิตร ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ และบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านเทคโนโลยีและแพลทฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาด้วยนวัตกรรมดิจิทัลในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องว่า “ผมเองเชื่อว่าอนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับการปฏิรูปการศึกษา
โดยเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อนักศึกษาและคณาจารย์ และขอชื่นชมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับวิชาการแขนงต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการและการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย รวมถึงการพัฒนาบุคลากรและนักศึกษาให้มีทักษะดิจิทัลในระดับมาตรฐานสากลเพื่อให้มีความสามารถ มีทักษะที่พร้อมสำหรับการทำงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต”
และยังกล่าวถึงบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยว่า “มีความโดดเด่นที่จะส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของสังคมไทยทางด้านดิจิทัล ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิต การศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต การทำงาน และการประกอบอาชีพ ซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่ดีของธุรกิจเพื่อสังคมที่มีบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือว่าเป็น
ความร่วมมือที่สำคัญ ที่บริษัทไอทีชั้นนำระดับโลกอย่าง บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จะได้ให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ บุคลากร เครื่องมือและเทคโนโลยี แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อยกระดับการพัฒนาศักยภาพการให้บริการทางการศึกษา วิจัย และบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยให้ก้าวทันมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก และเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และทักษะดิจิทัลให้กับคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เพื่อให้เป็นบุคคลากรที่มีความพร้อมทางทักษะสำหรับอนาคตซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการร่วมกันพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนบนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต”
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือด้านการส่งเสริมการดำเนินการของหน่วยงานเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึงการร่วมพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร และนักศึกษา
โดย บริษัท ไมโครซอฟท์ มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนนักศึกษาภายใต้โครงการ Microsoft Learn for Educators ซึ่งเปิดโอกาสให้คณาจารย์เข้าถึงหลักสูตรและสื่อการสอนของไมโครซอฟท์ เพื่อนำมาถ่ายทอดให้นักศึกษา รวมถึงสนับสนุนการสอบใบรับรองของไมโครซอฟท์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นที่ยอมรับและจะช่วยเพิ่มช่องทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เป็นการเปิดโอกาสสำคัญให้นักศึกษาประสบผลสำเร็จในสาขาวิชาชีพที่สอดคล้องกับการรับรองของไมโครซอฟท์ จึงมั่นใจว่าการลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ จะส่งผลให้เกิดการพัฒนานักศึกษา บุคลากร
เพื่อให้มีความพร้อมด้านทักษะดิจิทัล ในการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ เตรียมความพร้อมให้บุคลากรทุกกลุ่ม มีความรู้และทักษะที่เหมาะสม ต่อการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพในยุคดิจิทัล สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมต่อไป”
ด้านนายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวสั้นๆ ถึงความร่วมมือในว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาและคณาจารย์ได้เสริมสร้างทักษะดิจิทัลในหลากหลายระดับและทิศทาง ผ่านทางหลักสูตรหรือเส้นทางการเรียนรู้ที่ครอบคลุมทั้งคลาวด์ ข้อมูล AI หรือแม้แต่ทักษะพื้นฐานในการก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงาน ขณะที่การรับรองของไมโครซอฟท์ (Microsoft Certification) ก็นับเป็นเครื่องยืนยันถึงทักษะความสามารถอันเป็นที่ต้องการในหลากหลายตำแหน่งงาน พร้อมเปิดประตูสู่โอกาสมากมายในการก้าวสู่ความสำเร็จต่อไป
ความร่วมมือนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ ภายใต้เป้าหมายของไมโครซอฟท์ในการเสริมทักษะเชิงดิจิทัลให้กับคนไทยถึง 10 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงดิจิทัลของประเทศไทยในหลายมิติ ให้นำไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่สอดรับกับชีวิตในโลกดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ”
Advertisement