ปีนี้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังจะดุเดือดมากขึ้นเมื่อผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่างน้อย 3 ประเทศคือ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น สนใจเข้าลงทุน นับเป็นก้าวสำคัญที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้มีราคาถูกลงและทำให้ผู้บริโภคในภูมิภาคนี้มีโอกาสเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น
ผู้ผลิตรถยนต์จาก ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ เป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคในอาเซียนใช้อยู่แล้วราว 80% ในปัจจุบัน และไม่เพียงแค่เป็นตลาดสำคัญที่จะสร้างยอดขายเท่านั้น แต่ประเทศในอาเซียนยังเป็นโอกาสที่จะเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญให้กับผู้ผลิตจากทั้ง 3 ประเทศอีกด้วย
อินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในประเทศที่โดดเด่นในอาเซียน หากกำลังพูดถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เพระมีแหล่งแร่ที่อุดมสมบูรณ์ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ และสนับสนุนธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ EV อีกด้วย โดยรัฐบาลอินโดนีเซีย ตั้งเป้าว่า จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 20% ของรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตในประเทศในปี 2568 หรือ อีก 3 ปีข้างหน้า และเสนอมาตรการจูงใจด้านภาษีสำหรับผู้ผลิตเพื่อสนับสนุนการลงทุนอีกด้วย
ปัจจุบัน Hyundai Motor ได้เริ่มการผลิตเต็มรูปแบบแล้วที่โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งใหม่ในอินโดนีเซีย ไม่กี่เดือนต่อมา บริษัท SAIC-GM-Wuling Automobile ของจีนก็ได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กรุ่นใหม่และมีกำหนดจะเริ่มการผลิตในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในสิ้นปีนี้
ซึ่ง Wuling นั้นเป็นกำลังสำคัญสำหรับตลาดรถยนต์ EV ในจีนอย่างมาก สามารถขายรถ Hongguang Minis จำนวน 420,000 คัน ในราคาเริ่มต้นที่ 32,800 หยวน (4,880 เหรียญสหรัฐ) คิดเป็นเงินไทยราว 175,000 บาท ในปีที่แล้ว แต่บริษัท ยังไม่ได้ประกาศราคารุ่นใหม่ในอินโดนีเซีย แน่นอนว่า หากทำราคาถูกลงแบบนี้ได้ จะเป็นตัวจุดประกายตลาด EV ในอินโดนีเซียให้คึกคักมากขึ้นไปอีก เพราะโมเดลส่วนใหญ่มีราคาสูงกว่า 35,000 ดอลลาร์ หรือ ราว 1.2 ล้านบาท โดยในปีที่แล้วบริษัทรขาย EV ได้ราว 700 คันในอินโดนีเซีย
สำหรับประเทศไทย มีเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ภายในปี 2573 ขณะที่รัฐบาลยังออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย โดยเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ไทยได้ลดภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าลงเหลือ 2% สำหรับภาษีสรรพสามิต จาก 8% เพื่อแลกกับสัญญาที่ค่ายรถที่เข้าโครงการต้องเริ่มการผลิตในประเทศไทยในอนาคต ส่วนฝั่งผู้บริโภครัฐบาลยังมีการอุดหนุนทำให้ราคารถ EV ถูกลงสูงถึง 150,000 บาท ($ 4,240)
ด้าน Great Wall Motor ของจีนตอบรับด้วยการลดราคา Ora Good Cat ลงประมาณ 8% เหลือ 763,000 บาท ขณะที่ยอดจองรถ Ora สูงกว่า 4,700 คันตั้งแต่เริ่มจำหน่ายในประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งมากกว่ายอดขาย EV ทั้งหมดของไทยถึง 2 เท่าในปี 2564 ที่ผ่านมา และGreat Wall ตั้งเป้าจะลดราคาลงอีก โดยจะเริ่มการผลิตในไทยให้เร็วที่สุดในปี 2023
ส่วน Toyota Motor และ SAIC Motor ก็ใช้ประโยชน์จากสิ่งจูงใจของรัฐบาลไทยเช่นกัน โดยโตโยต้า คาดว่าจะเริ่มจำหน่าย EV ที่ผลิตในญี่ปุ่น เข้ามาในประเทศไทยในปลายปีนี้ และมีแผนที่จะผลิต EV ในประเทศไทย ราวต้นปี 2024
กลุ่มเมอร์เซเดส-เบนซ์มีแผนจะเริ่มประกอบรถยนต์ในประเทศไทยในปีนี้ ขณะที่บริษัทพลังงานของประเทศยักษ์ใหญ่ อย่าง ปตท. ตั้งเป้าที่จะเริ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2567 กับ Hon Hai Precision Industry ผู้ผลิตชาวไต้หวันหรือที่รู้จักในชื่อ Foxconn อีกด้วย
ด้านมาเลเซียเอง มี Volvo Cars ที่ประกาศเมื่อเดือนมีนาคมว่าได้เริ่มประกอบรถยนต์ในมาเลเซียแล้ว
The Fieldman Group ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ของมาเลเซีย กล่าวในเดือนมกราคมว่า จะสร้างโรงงานประกอบ EV ร่วมกับ Changan Automobile ของจีน
VinFast บริษัทผลิตรถยนต์ของกลุ่มบริษัท Vingroup ของเวียดนามเอง ก็มีอัตราการเติบโตแข็งแกร่งเช่นกัน เริ่มจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศได้ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และมีแผนจะผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไปที่สหรัฐอเมริกาด้วย
ในฟิลิปปินส์ กฎหมายที่สนับสนุนภาค EV มีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม กำหนดให้ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์และผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะต้องใช้ไฟฟ้าอย่างน้อย 5% ของฟลีทตนเอง นอกจากนี้รัฐบาลกำลังพิจรณาออกมาตรการจูงใจใหม่ๆสำหรับการนำเข้าและการผลิตรถยนต์EV ด้วย
แม้อาเซียนจะเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แต่การเปลี่ยนผ่านนี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่ายังคงต้องใช้เวลา โดยเฉพาะเป้าหมายที่ต้องการลดการปล่อยคาร์บอนในภูมิภาคนี้ เนื่องจากหลายประเทศในอาเซียนยังคงต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าอย่างมากอยูดี
นอกจากนี้ยังมีการประเมินว่า ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นจะหันมาเน้นรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดในอาเซียนแทน ขณะเดียวกันผู้ผลิตสัญชาติจีน และเกาหลีใต้กำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ชาร์จพลังงานในภูมิภาค เพื่อทำให้เกิดความพร้อมและสร้างความต้องการในตลาดอาเซียนให้มากขึ้น เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าในที่สุดยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะแซงหน้ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินได้ในปี 2578
ที่มา