Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ปิดฉาก ครม.นัดสุดท้ายปี2564 ไร้เงาแพคเกจรถEV และ บัตรคนจนรอบใหม่
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ปิดฉาก ครม.นัดสุดท้ายปี2564 ไร้เงาแพคเกจรถEV และ บัตรคนจนรอบใหม่

28 ธ.ค. 64
16:46 น.
|
442
แชร์

การประชุม ครม.นัดสุดท้ายของปี 2564 มีมติเห็นชอบขยายเวลาในโครงการเยียวยานายจ้าง และผู้ประกันตน มาตรา 33  มาตรา 39 และ 40 ออกไปอีกเป็นเดือน มีนาคม2565 นอกจากนี้ยังขยายเวลาการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถแท็กซี่และมอเตอร์ไซต์รับจ้างที่มีอายุ65 ปีออกไปอีกด้วย  ขณะที่มาตรการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ และแพ็กเกจ ส่งเสริมรถ EV ยังไม่เข้าสู่การพิจารณา  

 

ไร้แพ็กเกจส่งเสริมรถEVและการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการฯรอบใหม่

28 ธ.ค.64 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (บอร์ดอีวี) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้เลื่อนเสนอแพ็คเกจส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (รถอีวี) ออกไปเป็นช่วงต้นปี 2565 เนื่องจากอยู่ระหว่างทำหนังสือเวียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าแต่ละหน่วยงานมีความเห็นอย่างไร เพราะแพ็คเกจที่จะออกมาใช้ระยะเวลานานถึง 4 ปี ทั้งการให้ส่วนลด สูงสุด 150,000 บาท วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท และการลดภาษีสรรพสามิต รวมทั้งภาษีศุลกากร  นอกจากนี้ยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้ เนื่องจากเดิมมีข้อเสนอใช้เงินงบฯ กลาง แต่มีไม่เพียงพอ รวมถึงเสนอดึงเงินจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน แต่ไม่สามารถทำได้

 

ส่วนมาตรการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ บอกว่า กระทรวงการคลังได้เสนอแผนเพื่อเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่มีการบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณา ส่วนจะบรรจุเข้าวาระการพิจารณาเมื่อใดนั้น ตนยังไม่ทราบ

 

ครม.นัดสุดท้ายปี2564 ขยายเวลาโครงการเยียวยาประชาชน 2โครงการ

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการเยียวยานายจ้าง และผู้ประกันตน มาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด (กลุ่มจังหวัดได้รับเยียวยาเพิ่ม 1 เดือนในเดือน ส.ค. 64 ) และโครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จากเดิมที่สิ้นสุดเดือน ธ.ค. 64 เป็นสิ้นสุดเดือน มี.ค. 65

ทั้งนี้ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการได้รายงานว่าจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาตามโครงการฯ ซึ่งในการนี้ ครม. ให้สำนักงานประกันสังคม เร่งดำเนินการพิจารณาความเหมาะสมของการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวตามขั้นตอนโดยเร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือของภาครัฐถึงกลุ่มเป้าหมายเร็วที่สุด

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า

"สำนักงานประกันสังคม รายงานความคืบหน้าโครงการเยียวยานายจ้าง และผู้ประกันตน มาตรา 33 ว่า ณ วันที่ 16 ธ.ค.64 ได้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาให้กับนายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 แล้ว 2 รอบ รวมเป็นเงิน 31,721.52 ล้านบาท และจากการตรวจสอบข้อมูล พบว่ายังมีกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาตามโครงการฯ ประกอบด้วยนายจ้าง 5,948 แห่ง ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 199,232 คน ประกอบด้วย กลุ่มที่อยู่ระหว่างการจ่ายเงินเยียวยา อยู่ระหว่างการทบทวนสิทธิ อยู่ระหว่างการตรวจสอบนิติสัมพันธ์และยืนยันข้อมูล อยู่ระหว่างเปลี่ยนแปลงรหัสประเภทกิจการ รวมถึงกรณีโอนเงินไม่สำเร็จ เนื่องจากบัญชีเงินฝากปิดหรือไม่ได้ผูกกับพร้อมเพย์ และมีวงเงินคงเหลือตามโครงการ ทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 รวม 1,984.24 ล้านบาท"

 

"ส่วนโครงการเยียวยาผู้ประกันตน มาตรา 39 และมาตรา 40 ณ วันที่ 21 ธ.ค. 64 ได้จ่ายเงินเยียวยาแล้ว 72,015.33 ล้านบาท คิดเป็น 92.70% ของวงเงินตามโครงการ 77,785 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เหลือผู้ประกันตนที่ยื่นอุทธรณ์/ทบทวนสิทธิ์ แยกเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 3,423 คน และผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 190,659 คน"

 

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบมาตรการเยียวยาโควิด ด้วยการขยายระยะเวลาโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง(รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากเดิมสิ้นสุดเดือนพ.ย. 2564 เป็นสิ้นสุดเดือนม.ค. 2565 เพื่อให้กรมขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม มีระยะเวลาเพิ่มขึ้นในการตรวจสอบข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่ยื่นขอทบทวนหรืออุทธรณ์ในการขอรับเงินจากโครงการเยียวยาฯ

 

ทั้งนี้ กรมขนส่งทางบกได้รายงานผลการจ่ายเงินเยียวยาตามโครงการว่า ณ วันที่ 21 ธ.ค. 64 ได้จ่ายเงินเยียวยาแล้ว 8,077  คน วงเงินรวม 76.60 ล้านบาท  คงเหลือวงเงินตามโครงการ 90.34 ล้านบาท (วงเงินตามโครงการ 166.94 ล้านบาท) และขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลผู้ขอรับการตรวจสอบสิทธิ 2,307 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีคุณสมบัติไม่ชัดเจน เช่น ผู้ที่สหกรณ์ยังไม่ยืนยันการเช่ารถ, ใบอนุญาตขับรถสิ้นอายุก่อน ม.ค., บัตรประจำตัวผู้ขับรถสิ้นอายุ (บัตรเหลือง) และรถค้างชำระภาษี เป็นต้น

 

 

แชร์
ปิดฉาก ครม.นัดสุดท้ายปี2564 ไร้เงาแพคเกจรถEV และ บัตรคนจนรอบใหม่