ปี 2564 ที่ผ่านมา ยังคงเป็นอีกหนึ่งปีที่หนักหนาของคนไทยทุกคนเพราะผลกระทบจาก ไวรัสโควิด-19 ที่ยังส่งผลต่อเนื่องต่อเงินในกระเป๋า แต่สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันต่างพาเหรดกันขึ้นราคาแทบจะทุกอย่าง สวนทางกับภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ ทำให้ “เงินเฟ้อ” เป็นปัญหาที่เข้าซ้ำเติมการใช้ชีวิตของคนไทยอีกด้วย
ในช่วงเดือนธันวาคม ปีนี้ ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อ้างอิงจากเว็บไซต์ ตลาดไท.com ในช่วงวันที่ 28 ธันวาคม ปีที่แล้ว ราคาสันในหมูอยู่ที่ 135 บาท/กก. หมูสามชั้นอยู่ที่ 165 บาท/กก. ปัจจุบันราคาเนื้อหมูสันปรับเพิ่มขึ้นเป็น 170 บาท/กก. (เพิ่มขึ้น 26%) ราคาหมูสามชั้นพุ่งสู่ 220 บาท/กก. (เพิ่มขึ้น 33%) (29 ธันวาคม 2564)
สำหรับสาเหตุการปรับตัวขึ้นของราคาเนื้อหมู เกิดจากต้นทุนอาหารใช้เลี้ยงหมูและยารักษาโรคที่มีราคาสูงขึ้น รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูมีจำนวนลดลง เนื่องจากแบกรับต้นทุนสูงไม่ไหว ขณะที่แนวโน้มกำไรกลับต่ำลง โดยสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนมายาวนานตั้งแต่ก่อนโควิด -19 แพร่ระบาดแล้ว
อย่างไรก็ดีไม่ใช่แค่ราคาเนื้อสัตว์เท่านั้นที่มีราคาปรับเพิ่มสูงขึ้น ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวราคาผักที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นมากจากต้นทุนตามต้นทุนการเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น และปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ผลผลิตที่ออกมาสู่ตลาดลดลงทำให้มีปริมาณลดลงน้อยกว่าความต้องการของผู้บริโภค
ขณะที่ร้านอาหารเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด - 19 มากที่สุด เนื่องจากต้องสูญเสียรายในทุกระลอกของการล็อกดาวน์ ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาต้นทุนวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ที่ราคาแพงขึ้น จนทำให้หลายรายต้องยกธงขาว ปิดตัวธุรกิจลงไป แม้หลายร้านที่ยังสู้ไหว แต่มีความจำเป็นประกาศขอขึ้นราคาอาหาร เพื่อให้รักษาให้ธุรกิจที่ทำอยู่รอดต่อไปได้ตัวอย่างของร้านบุฟเฟ่ต์สุกี้ - ชาบู ที่ขอยับราคาค่าบริการขึ้น มีดังนี้
ถือเป็นเพียงตัวอย่างของร้านอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งร้านอาหารเจ้าอื่นๆก็คงเผชิญปัญหาไม่แตกต่างกัน และอาจจะกำลังพิจารณาขึ้นราคาด้วยในไม่ช้า
ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2564 รถไฟฟ้า MRT - BTS ปรับขึ้นราคา ทั้งปรับขึ้นราคาต่อสถานี และยกเลิกนโยบายคงราคาเท่าเดิมตลอดสายในบางเส้นทาง ทำให้ค่าเดินทางของบางคนที่ต้องต่อรถไฟฟ้าหลายต่อ พุ่งสูงถึง 104 บาท ต่อการเดินทาง 1 ครั้ง และในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้ที่ผ่านมาถึงรอบการปรับขึ้นราคาทางด่วน ซึ่งจะปรับขึ้นในทุกๆ 5 ปีตามที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทาน ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ(BEM) ส่งผลให้ราคาค่าทางด่วนสำหรับรถยนต์ 4 ล้อเพิ่มขึ้นจาก 50 บาท เป็น 65 บาท (ปรับขึ้น 15 บาท) และสูงขึ้นอัตราที่กำหนดสำหรับรถขนาดใหญ่ประเภทอื่นๆ
นอกจากนี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันและราคาค่าไฟฟ้าปัจจุบันก็มีทิศทางขยับขึ้นด้วยเช่นกัน โดยราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น จากก่อนหน้านี้มีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐจำนวนมากทั่วโลกต้องหยุดลง ไม่มีการผลิตสินค้า ไม่มีการเดินทาง ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกหดตัวลง
ย้อนไปเมื่อปี 2563 อ้างอิงจากเว็บไซต์บางจาก ราคาน้ำมัน “แก๊สโซฮอล 95” เคยร่วงลงไปถึง 16.95 บาท/ลิตร “ไฮดีเซลS” ที่ราคา 14.39 บาท/ลิตร ช่วงปลายเดือนเมษายนปีนี้ซึ่งมีการล็อกดาวน์ในประเทศ ปัจจุบันที่หลายประเทศกลับมาใช้ชีวิตจนเกือบปกติ ประเทศไทยกลับมาเดินทาง กลับมาทำธุรกิจ ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอลขยับขึ้นมาที่ 31.15 บาท/ลิตร ดีเซลขยับขึ้นมาที่ 28.44 บาท/ลิตร (24 ธันวาคม 2564) ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว
สำหรับราคาค่าไฟ ในต้นปี 2565 ที่กำลังจะมาถึงนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ปรับราคาค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) ของเดือน ม.ค. - เม.ย. 2465 เพิ่มขึ้นจาก -15.32 สตางค์/หน่วย เป็น 1.39 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากความต้องการการใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศเพิ่มสูงขึ้น และราคาวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าอย่างก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน มีราคาแพงขึ้น ทำให้กกพ.ต้องประกาศขึ้นค่า Ft และ จะเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดอีก 2 รอบ (พ.ค. - ส.ค. 2565 และ ก.ย. - ธ.ค. 2565) ในปีนี้
ค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตเพิ่มสูงขึ้น “การกินข้าวให้อิ่ม เดินทางให้ถึงบ้าน” ต้องใช้เงินสูงขึ้นกว่าเดิม นี่คือภาวะที่หลายคนกลัว นั่นคือ “ภาวะเงินเฟ้อ”
พูดถึงเรื่อง “เงินเฟ้อ” หลายคนคงรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่จับต้องได้ยาก และไกลตัว แต่จากที่เล่ามาทั้งหมดนี้ คงทำให้เห็นภาพชัดแล้วว่า เงินเฟ้อได้ “ล้อมเราไว้ทุกทิศทุกทางแล้ว”
“ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation)” พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือภาวะที่ข้าวของแพง ต้องใช้เงินสูงขึ้นในการ “กินข้าวให้อิ่ม กลับให้ถึงบ้าน” ตัวอย่างยอดฮิตของแทบจะทุกสำนักคือ “ราคาก๋วยเตี๋ยว”
จะเห็นได้ว่า กิจกรรมต่างๆ ของเรา 1 ครั้ง เช่น กิน 1 อิ่ม นอน 1 คืน เดินทาง 1 เที่ยว จากเดิมเคยทำได้ด้วยเงินจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลับต้องใช้เงินจำนวนเพิ่มขึ้น เพื่อทำกิจกรรมเหล่านั้น สภาวะแบบนี้เรียกว่า เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินก้อนเดิมที่เรามีอยู่ ค่อยๆ ด้อยมูลค่าลงเมื่อเวลาผ่านไป
โดยตัวเลขเงินเฟ้อที่เราเห็นตามข่าว ซึ่งเป็นตัวเลข “เงินเฟ้อทั่วไป” (หรือเรียกว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค) คิดจากคำนวณจากราคาสินค้าและบริการ 430 รายการ ครอบคลุมสินค้าและบริการ 7 หมวดได้แก่
1. หมวดอาหารและเครื่องดื่ม 2.หมวดเคหสถาน 3.หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร 4.หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 5.หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล 6.หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา 7.หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์
ซึ่งในประเทศไทย ผู้ที่รายงาน ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ในแต่ละเดือน หรือปีก็คือ กระทรวงพาณิชย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง