พูดถึงภาษี หลายคนมักถึงการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีช่วงโค้งสุดท้ายก่อนสิ้นปี แต่ความจริงแล้ว การรอลดหย่อนภาษีครั้งเดียวในช่วงปลายปี อาจเป็นต้นทุนการเสียโอกาสหรือปล่อยให้ชีวิตต้องเผชิญกับความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น เพื่อให้เห็นภาพเหล่านี้ชัดขึ้น อยากให้ทุกคนมารู้จักกับ 3 สิ่ง ที่สะท้อนว่าการลดหย่อนภาษีไม่ควรรอถึงสิ้นปี
ทางเลือกลดหย่อนภาษี ที่ชัดเจนที่สุด คือ กองทุน TESG และกองทุน SSF ที่มีเงื่อนไขการถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปีเต็ม และ 10 ปีเต็มตามลำดับ ไม่ว่าหน่วยลงทุนนั้นจะลงทุนต้นปีหรือปลายปีก็ตาม เช่น หากลงทุนกองทุน TESG และ SSF ในวันที่ 28 ธ.ค. 66 ซึ่งจะสามารถขายคืนหลังครบเงื่อนไขการถือครอง คือ ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 74 สำหรับกองทุน TESG และวันที่ 29 ธ.ค. 76 สำหรับกองทุน SSF โดยการขายคืนนั้นจะยังไม่ได้รับเงินค่าขายคืนทันที เช่น หากทั้ง 2 กองทุนมีระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืน T+2 (2 วันทำการ ถัดจากวันขายคืน) ผู้ลงทุนจะได้รับเงินค่าขายคืนไม่เร็วไปกว่าวันที่ 2 ม.ค. 75 และ 2 ม.ค.77 สำหรับกองทุน TESG และกองทุน SSF ตามลำดับ หรือต้องรอข้ามปีถึงจะได้เงินไปใช้จ่าย เป็นต้น (สมมติว่าไม่ติดวันหยุดอื่น นอกจาก 31 ธ.ค.-1 ม.ค.)
แต่หากเริ่มต้นลงทุนทั้ง 2 กองทุน ตั้งแต่ต้นปี เช่น 2 ม.ค. 67 ก็จะสามารถขายคืนหลังครบเงื่อนไขได้ตั้งแต่ 3 ม.ค. ถัดจากวันที่ครบเงื่อนไข 8 ปี และ 10 ปีเต็ม โดยหากขายคืนในวันดังกล่าวและกองทุนมีระยะเวลาการรับเงินค่าขายคืนอยู่ที่ T+2 ผู้ลงทุนก็จะได้รับเงินค่าขาย วันที่ 5 ม.ค. 75 สำหรับกองทุน TESG และ 5 ม.ค. 77 สำหรับกองทุน SSF เป็นต้น (ได้รับเงินห่างจาก กรณีที่ลงทุนปลายปี 66 เพียง 3 วัน) ดังนั้นไม่ว่าจะลงทุนช่วงวันไหนของปี ระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนและการได้รับเงินคืน ก็แทบไม่แตกต่างกัน
ทางเลือกลดหย่อนภาษี อย่างประกันชีวิตตลอดชีพหรือประกันชีวิตสะสมทรัพย์ที่มีความคุ้มครองชีวิต รวมถึงประกันสุขภาพ เบี้ยที่จ่ายไปไม่เพียงแต่นำไปลดหย่อนภาษีได้เท่านั้น แต่ยังถูกนำไปสร้างความคุ้มครองด้วย โดยหากเป็นความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต จะได้รับความคุ้มครองทันทีในวันที่ทำสัญญาและชำระเบี้ย หรือในอาจรอกรมธรรม์อนุมัติอีก 1-2 วัน แล้วแต่กรณี
ส่วนประกันสุขภาพหลังจากซื้อแล้วต้องรออีก 30 วัน ถึงจะได้รับความคุ้มครองสุขภาพ หรือในกรณีเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงต้องรอนานถึง 90 วันหรือ 120 วัน ประกันสุขภาพถึงจะคุ้มครอง แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้ถึงแก่ชีวิต อาจไม่รอจนถึงสิ้นปี หรือโรคภัยไข้เจ็บก็อาจตรวจพบได้ทุกเมื่อ การซื้อประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพฉบับใหม่ เพื่อตั้งใจนำไปลดหย่อนภาษี จึงควรซื้อทันทีเมื่อพร้อม ไม่จำเป็นต้องรอเวลาจนเป็นช่องโหว่ให้เหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นก่อนที่เราจะได้รับความคุ้มครองจากประกัน
ทางเลือกลดหย่อนภาษี อย่างกองทุน RMF ที่ไม่ว่าจะลงทุนเมื่อไรก็ต้องถือครองและลงทุนต่อเนื่องไปจนถึงอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี
บริบูรณ์ แต่การรอลงทุนกองทุน RMF ด้วยเงินก้อนเดียวก็มีความเสี่ยงที่ระหว่างปีผู้ลงทุนอาจไม่ได้ทยอยเก็บเงินไว้ แล้วไปรอลุ้นได้เงินโบนัส เพื่อนำมาใช้สิทธิกองทุน RMF ซึ่งหากไม่มีเงินโบนัสก็อาจไม่ได้ใช้สิทธิ หรือต้องนำเงินที่เก็บไว้ในอดีตมาลงทุนแทน แต่หากทยอยลงทุนกองทุน RMF ระหว่างปีอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ก็ถือเป็นการทยอยเก็บเงินใหม่จากรายได้ที่ได้รับในแต่ละเดือน ช่วยเพิ่มความมั่นใจว่าจะมีเงินเก็บและเงินจะไม่หมดไปกับการใช้จ่ายประจำวันทั้งจำนวน
อีกทั้งการลงทุนอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ยังเป็นการเฉลี่ยต้นทุน หรือที่เรียกว่า DCA (Dollar-Cost Averaging) เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า การรอนำเงินก้อนไปลงทุนครั้งเดียวตอนปลายปี จะเป็นช่วงที่ราคากองทุน (NAV ต่อหน่วย) หรือราคาสินทรัพย์ในตลาดปรับตัวสูงขึ้นแค่ไหน การทยอยลงทุนเท่าๆ กันทุกเดือนแบบ DCA จะช่วยให้ได้รับต้นทุนที่ไม่แพงจนเกินไป
ลดหย่อนภาษี เรื่องที่ไม่ต้องรอให้ถึงปลายปี แต่เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอยู่ทุกเวลาเพราะภาษีได้คืนมาเป็นเพียงผลประโยชน์ส่วนหนึ่งของเงินที่ได้ลงทุนหรือซื้อประกันไปเท่านั้น ยังคงมีผลประโยชน์อื่น อย่างการลงทุนและความคุ้มครอง ที่มีความสำคัญกว่าผลประโยชน์ทางภาษีหลายเท่าตัว
นักวางแผนการเงิน CFP