ธนาคารกรุงไทยได้ประกาศผลประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 36,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 8.7% เติบโตมาจากรายได้การดำเนินงานเพิ่มขึ้น 19.2% อยู่ที่ 149,465 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อขยายอย่างระมัดระวัง เพื่อรักษาสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทน ส่งผลให้ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิในปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 3.22% จากปีก่อนที่ 2.60% และในไตรมาส 4/66 อยู่ที่ 3.41%
ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง ในปีที่ผ่านมากรุงไทยจึงได้มีการตั้งสำรองในระดับสูงที่ 37,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 52.4% เพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ยืนหยัดดูแลช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ลดภาระทางการเงิน และแก้ไขปัญหาหนี้อย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางแก้หนี้ยั่งยืนของธปท.
สินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 2,426,108 ล้านบาท หดตัวลงเล็กน้อย -0.7% จากปีก่อน โดยเน้นการขยายสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง
สินเชื่อบัตรเครดิต โต 7.2%
สินเชื่อส่วนบุคคล โต 6.8%
สินเชื่อที่อยู่อาศัย โต 2.5%
สินเชื่อรายใหญ่ โต 0.5%
สินเชื่อรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ หดตัวถึง -11.6%
สินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) หดตัว -8.2%
สินเชื่ออื่นๆ หดตัว -16.2%
นอกจากนี้ กรุงไทยยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนเกี่ยวกับ IT เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มให้ดียิ่งขึ้น ต่อยอดดิจิทัลแบงกิ้ง เพื่อรับการเติบโตของอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคต อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Cost to Income ratio มาอยู่ที่ 41.6% ลดลงจาก 43.7% ปีที่ผ่านมา
โดยตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูง ที่ 181.2% รองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ รวมถึงพิจารณาความเสี่ยงในทุกมิติอย่างรอบคอบ โดยหากรวมสำรองที่ได้ปรับปรุงระหว่างปี (one-time adjustment) ด้วยแล้ว Coverage ratio ของธนาคารอยู่ที่ประมาณ 190% เมื่อเทียบกับ 179.7% ในปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ในไตรมาส 4 ธนาคารได้ตั้งสำรองในระดับที่เหมาะสมสำหรับลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันที่มีแนวโน้มของคุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมค่าลงพร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป พร้อมบริหารคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังต่อเนื่อง ทำให้ NPLs Ratio ลดลงอยู่ที่ 3.08% และมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ระดับ 17.64% และมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 20.85% ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของ ธปท. รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอโดยรักษาระดับของ Liquidity Coverage ratio (LCR) อย่างต่อเนื่อง สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด
ไตรมาส 4 ปี 2566 เทียบกับไตรมาส 3/2566 กำไรสุทธิ 6,111 ล้านบาท ลดลงถึง 40.6% และเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อน ลดลง 24.6% จากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง กรุงไทยจึงได้มีการตั้งสำรองในระดับที่เหมาะสมสำหรับลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน แต่รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัว 14.3%
ปี 2566 มีผู้ใช้แอปเป๋าตัง 40 ล้านราย -Krungthai NEXT 17.8 ล้านราย
ในปี 2566 ธนาคารมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในทุกมิติ โดยแพลตฟอร์มของธนาคารมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แอปพลิเคชันเป๋าตัง มีผู้ใช้งาน 40 ล้านราย Krungthai NEXT 17.8 ล้านราย และ แอปฯ ถุงเงิน 2 ล้านราย ผลจากการพัฒนาบริการทางการเงินที่ทันสมัย บนช่องทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและครอบคลุม ทั้งในมิติของพื้นที่และระดับขั้นรายได้
โดย นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังไม่ทั่วถึงในรูปแบบ K-shaped economy โดยภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เริ่มกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ส่งผลดีต่อการจ้างงานและการบริโภคภาคครัวเรือน
ขณะที่ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ภาวะชะลอตัว ส่งผลต่อไปถึงการลงทุนภาคเอกชนให้ขยายตัวต่ำกว่าคาด ขณะที่การลงทุนภาครัฐได้รับผลกระทบจากการเบิกจ่ายที่ต่ำกว่าปกติ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญการเปลี่ยนผ่านเชิงนโยบายสู่ภาวะปกติซึ่งเห็นได้ชัดจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับตัวขึ้น ความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับภาคครัวเรือนยังมีภาระหนี้สูงทั้งในและนอกระบบ ผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงกลุ่มเปราะบางและผู้มีรายได้น้อยยังฟื้นตัวได้ช้า
ธนาคารจึงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง บริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด โดยรักษาระดับของ Coverage Ratio ในระดับสูง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวภายใต้ศักยภาพที่ลดลงและการให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มให้สามารถปรับตัว และแก้ไขปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน
สำหรับ ปี 2567 ธนาคารกรุงไทยมุ่งขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสร้างคุณค่า ตอบโจทย์ลูกค้า สู่ความยั่งยืน” เช่น การใช้ AI มาประกอบการทำงาน เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันของธนาคารและโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต
รวมถึง ให้ความสำคัญการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศ ให้ความช่วยเหลือลูกค้าแก้ไขปัญหาหนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการทั่วไป และมาตรการเฉพาะจุด โดยเฉพาะดูแลช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถประคองตัว และรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ พร้อมให้ความสำคัญการให้สินเชื่อย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการเข้าถึงการเงินในระบบ และไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินตัว ตามแนวทางการแก้หนี้ยั่งยืน หรือ Responsible Lending ของธนาคารแห่งประเทศไทย ครอบคลุมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การช่วยเหลือกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรังและเปราะบางให้สามารถปิดจบหนี้ได้โดยเร็ว
รวมถึงการให้ความรู้ส่งเสริมวินัยทางการเงิน ทั้งการออม การลงทุน และการป้องกันภัยทางการเงิน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและความมั่นคงทางการเงินอย่างมั่นคงต่อไป