การเงิน

กรุงศรีฯ ตั้งเป้าสินเชื่อบริษัทญี่ปุ่น-บรรษัทข้ามชาติโต 7% เล็งธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์-อสังหาฯ

27 เม.ย. 67
กรุงศรีฯ ตั้งเป้าสินเชื่อบริษัทญี่ปุ่น-บรรษัทข้ามชาติโต 7% เล็งธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์-อสังหาฯ

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ตั้งเป้าเพิ่มสินเชื่อของบริษัทญี่ปุ่นและบรรษัมข้ามชาติโต 7% ในปีนี้ เน้นขยายเจาะกลุ่มลูกค้าเพิ่มในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อสังหาริมทรัพย์ และการค้า หลังภาคยานยนต์ซบเซาลงภาวะเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือน พร้อมขยายการให้บริการในอาเซียน ชี้ ‘เวียดนาม’ ดึงดูดการลงทุนได้สูง

krungsri_jpc-mncbanking_01

ในวันที่ 26 เม.ย. นาย บุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่น (JPC) และบรรษัทข้ามชาติ (NMC) ประสบความสำเร็จในการส่งมอบผลการดำเนินงานอย่างเป็นที่น่าพอใจ

ในปีที่ผ่านมา กรุงศรีฯ เข้าถึงตลาด JPC และ NMC ในไทยได้ถึง 70% และมีมูลค่าพอร์ตสินเชื่อของ JPC และ NMC เป็นมูลค่ารวมทั้งหมด 2.33 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่ม JPC ประมาณ 88% และ MNC 12% อีกทั้งยังเป็นหนี้ที่มีคุณภาพดี มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ในระดับต่ำมากและเชื่อว่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

สำหรับปี 2024 กรุงศรีฯ ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าสินเชื่อของลูกค้าใน 2 กลุ่มนี้ ให้ถึง 7% จากมูลค่าปัจจุบัน ด้วยการเจาะกลุ่มลูกค้าในหลายๆ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโตในปัจจุบัน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทริกส์ กลุ่มการค้า กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มพลังงานทางเลือก หลังอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นลูกค้าหลักของกรุงศรีฯ ซบเซาลง

นายโอคุโบะ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ทำผลงานได้ไม่ดีนักในปีนี้จากปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำให้ในปี 2023 ความต้องการสินเชื่อลดลง 10% และในไตรมาสที่ 1 ของปี 2024 อัตราการเติบโตสินเชื่อหดตัวถึง 3.3% จากไตรมาสก่อนหน้า

มองไทยและอาเซียนยังมีโอกาสดึงการลงทุน เวียดนามรุ่ง

แม้จะมีความท้าทาย กรุงศรีฯ มองว่าประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ยังมีโอกาสในการดึงดูดการลงทุน เพราะปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ปัญหาระหว่างจีนและสหรัฐฯ อาจทำให้หลายๆ ธุรกิจต่างชาติย้ายฐานการผลิตหรือการลงทุนมาที่อาเซียน โดยไทยมีข้อได้เปรียบ คือ มีห่วงโซ่อุปทานที่มีความลึก มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม และมีแรงงานที่มีความรู้

นอกจากนี้ แม้ปัจจุบันประเทศที่ลงทุนในไทยมากที่สุดจะเป็นจีน ไทยก็ยังคงเป็นจุดหมายการลงทุนที่สำคัญของญี่ปุ่น โดยปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นกว่า 4,000 บริษัทที่ลงทุนและประกอบธุรกิจผลิตสินค้าในไทย ทั้งในรูปแบบการลงทุนโดยตรง และการร่วมทุนกับบริษัทไทย (Joint Venture)

ทั้งนี้ นอกจากไทย ประเทศในอาเซียนที่มีศักยภาพในการเติบโตและดึงดูดการลงทุนได้สูงคือ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะเวียดนามที่มีความเหมาะสมในหลายด้าน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน กำลังคน ความง่ายในการเข้าไปทำธุรกิจ ทำให้มีบริษัทจากจีน ญี่ปุ่น รวมไปถึงไทย ลงทุนในเวียดนามเป็นจำนวนมาก

จากศักยภาพในการเติบโตนี้ ในปี 2024 กรุงศรีฯ จึงมีแนวทางที่จะขยายธุรกิจและบริการในอาเซียน โดยมีกลยุทธ์หลัก 3 ข้อ คือ 

  1. ต่อยอดความร่วมมือเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) โดยจะขยายความร่วมมือเพิ่มเติมกับ สปป. ลาว และเวียดนาม เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลที่เอื้อต่อสังคม ชุมชน ทั้งในประเทศไทยและอาเซียน และจัดงาน Japan-ASEAN Startup Business Matching อย่างต่อเนื่องหลังจากประสบความสำเร็จอย่างมากในปีก่อน เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจสู่ตลาดระดับสากล ดึงดูดนักลงทุน สร้างตำแหน่งงาน พร้อมช่วยกระตุ้นให้ประเทศเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  2. ขยายฐานลูกค้าบรรษัทข้ามชาติจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (East Asian Economies) ด้วยพื้นฐานและปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนในประเทศไทย ทั้งความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ดึงดูดการลงทุนจากกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลี โดยจะใช้โอกาสนี้ทำงานร่วมกับ MUFG ในการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจจากกลุ่มประเทศที่ต้องการเข้ามาลงทุนและขยายการเติบโตของธุรกิจในประเทศไทย 
  3. ยกระดับบริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจ Krungsri ASEAN LINK เชื่อมทุกความต้องการทำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยกรุงศรีพร้อมใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสานพลังเครือข่ายธุรกิจของธนาคาร และ MUFG ที่ครอบคลุม 9 ใน 10 ประเทศในอาเซียน อาทิ Danamon Bank ในอินโดนีเซีย VietinBank ในเวียดนาม Security Bank ในฟิลิปปินส์ เพื่อต่อยอดบริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจสำหรับลูกค้าที่ต้องการขยายธุรกิจสู่อาเซียน ตั้งแต่ในขั้นตอนเริ่มแรก เช่น การสำรวจแปลงที่ดิน การรวบรวมข้อมูลและกฎระเบียบ จนถึงการจัดตั้งและดำเนินการทางธุรกิจในต่างประเทศ 

 

มุ่งส่งเสริมระบบนิเวศด้านความยั่งยืน

ทั้งนี้ นอกจากการขยายบริการในอาเซียนแล้ว ในปี 2024 กรุงศรีฯ ยังเร่งส่งเสริมระบบนิเวศด้านความยั่งยืน (ESG Ecosystem) ให้กับสังคมไทย โดยอาศัยจุดแข็งในการมีความรู้ ความชำนาญในด้าน ESG ผ่านความร่วมมือกับ MUFG เพื่อนำเสนอโซลูชันทางการเงินเพื่อความยั่งยืนที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน 

โดยเมื่อช่วงต้นปี กรุงศรีฯ ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Deposit) บัญชีเงินฝากประจำเพื่อใช้สนับสนุนทางการเงินให้กับโครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน ร่วมขับเคลื่อนโครงการด้านความยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าและคาดว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตอบรับที่ดีในปีนี้ เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์เรื่อง ESG ให้กับลูกค้า

นอกจากนี้ กรุงศรีฯ ยังเดินหน้าสร้างเครือข่ายความร่วมมือ พร้อมให้การสนับสนุนองค์กร และหน่วยงานต่างๆ ที่มีวิสัยทัศน์และพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT