ต้องบอกก่อนเลยว่า งานแต่งงาน เป็นหนึ่งในงานมงคลที่คู่บ่าวสาวชื่นชอบ เพราะเป็นเสมือนวันประกาศความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ที่ทำให้คนสองคนได้ครองรักกันอย่างมีความสุข แต่เมื่องานแต่งเป็นทุกข์ด้วยการละเล่นที่ไม่เหมาะสม ก็อาจจะเกิดการล่มวิวาห์ขึ้นมาได้ดังข่าวต่าง ๆ ใช่ค่ะ เรากำลังพูดถึงการกั้น ประตูเงินประตูทอง ที่หลายคนเคยเข้าร่วม เมื่อถึงงานแต่งงานของใครสักคู่หนึ่ง
ซึ่งในการแต่งงานอย่างที่หลายคนรู้ว่า มีค่าใช้จ่ายที่เยอะอยู่แล้ว จะสังเกตได้ว่าบางครั้งที่หลายคู่แต่งงาน ยกเลิกกิจกรรมกั้น ประตูเงินประตูทอง หรือลดขั้นตอนการประกอบพิธี เพื่อเป็นการประหยัดเงินสำหรับคู่บ่าวสาว แต่ก็ยังมีบางคู่ที่คงการละเล่นนี้ไว้ เพราะต้องการความสนุกของกิจกรรม แต่อย่างที่หลายคนทราบค่ะ บางครั้งการกั้นประตูเงินประตูทอง ก็กลายเป็นการเรียกเก็บเงินที่สูงเกินไป อีกทั้งบางครั้งการให้ที่น้อยไปก็เสี่ยงต่อการนินทา วันนี้เราจะพาทุกคนไปย้อนดูว่า ย้อนดูประตูเงินประตูทองตามประเพณีไทยมีกี่ประตูกันแน่ ?
ธรรมเนียมปฏิบัติที่ถูกต้องตามประเพณีกั้น ประตูเงินประตูทอง
การกั้นประตูเงินประตูทอง นับได้ว่าเป็นกิจกรรมที่เรียกความสนุก และเรียกความเฮฮาในพิธีมงคลสมรสได้มากที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะเราจะได้เห็นเหล่าเพื่อนเจ้าสาวยืนกั้นประตูซ้อนกันหลายชั้น เพื่อนเจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าสาวจะได้ออกโรงเรียกเสียงหัวเราะกันได้อย่างเต็มที่ ผ่านการละเล่น หรือเกมส์ที่ท้าทายเจ้าบ่าว ไม่ว่าจะเป็นตะโกนบอกรัก, วิดพื้น, ทายใจ และอีกสารพัดไอเดียที่เพื่อนเจ้าสาวจะสรรหา
เดินทีแล้วธรรมเนียมตามประเพณีดั้งเดิมขอไทย เมื่อมีงานแต่งงานมักจะนิยมกั้นประตู 3 ประตู ได้แก่ ประตูชัย ประตูเงิน และประตูทอง เมื่อเจ้าบ่าวมาถึงเรือนเจ้าสาว ก่อนที่จะได้พบคนรักจะต้องผ่านขั้นตอนนี้ก่อน แต่จะผ่านได้ก็จะต้องมีซองเงินเล็กน้อยให้คนกั้นประตู ด้วย "ของแถมพก" โดยผู้ที่ให้ซองนี้ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของเจ้าบ่าว บางครั้งก็มีเถ้าแก่และเพื่อนเจ้าบ่าว ช่วยกันหยอกล้อและต่อรองขอผ่านประตู เพื่อให้เข้าไปหาหวานใจ
วิธีแจกของแถมพก ณ ประตูเงินประตูทอง
1. ฝ่ายชายเตรียมของแถมพกเพื่อใช้ผ่านประตู ควรสอบถามฝ่ายหญิงก่อนว่าในวันงานจะมีทั้งหมดกี่ประตู แต่ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่จะเตรียมไว้เกินกว่าจำนวนประตู
2. ฝ่ายหญิง เตรียมสายสร้อยเงิน ทอง นาก และเพชร ไว้สำหรับกั้นประตู โดยทั่วไปแล้ว การกั้นประตูเงินประตูทองจะเริ่มต้นที่ 3 ประตู คือ ประตูชัย ประตูเงิน และประตูทอง แต่หากมีญาติหรือเพื่อนเจ้าสาวจำนวนมาก ก็สามารถกั้นได้มากกว่านั้น แต่ละประตูก็มีความหมายต่างกันออกไป
- ประตูชัย เป็นด่านแรกก็คือหน้าบ้านของเจ้าสาว ถือเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยในการเปิดประตู เพื่อไปรับว่าที่เจ้าสาว โดยผู้กั้นประตูจะถือชายผ้าคนละข้าง เรียกกันว่า "การปิดประตูขั้นหมาก" จากนั้นก็จะมีการต่อรองเกิดขึ้นตามแต่บรรยากาศจะพาไป สุดท้ายก่อนจะผ่านประตูเข้าไป ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องให้ซองเงินแก่ผู้กัน เรียกว่า "ของแถมพกอย่างตรี"
- ประตูเงิน ประตูที่สองเสมือนเป็นคำอวยพรให้คู่บ่าวสาวมีชีวิตคู่ที่สุขสบาย ร่ำรวยด้วยเงินตรา โดยผู้กั้นประตูจะถือชายผ้าแพรคนละข้าง หรือเป็นผ้าที่มีเนื้อดีกว่าผ้าที่ใช้ก่อนหน้า มีการต่อรองขอผ่านประตูเช่นเดียวกับประตูชัย แต่ซองเงินที่ให้จะต้องมีค่าสูงกว่า เรียกว่า "ของแถมพกอย่างโท"
- ประตูทอง ประตูสุดท้ายเป็นคำอวยพรที่บอกให้บ่าวสาวร่ำรวยด้วยทอง และมีชีวิตคู่ที่รุ่งเรืองดั่งทองคำ ผู้กั้นจะถือชายผ้าแพรอย่างดี หรือใช้สร้อยทองสำหรับกั้นประตู และเช่นเดียวกันกับสองประตูที่ผ่านมา แต่อาจจะผ่านยากสักหน่อย เพราะนี่น่ะเป็นประตูสำคัญประตูสุดท้าย แน่นอนว่าซองจะต้องหนักมากกว่าก่อนหน้านี้ เรียกว่า "ของแถมพกอย่างเอก"
เมื่อขบวนขันหมากเดินทางมายังประตูชัย ก็จะพบกับญาติหรือเพื่อนเจ้าสาวยืนกั้นประตูขันหมาก เถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะถามว่า "ประตูนี้ชื่อว่าอะไร" ผู้กั้นก็จะตอบว่า "ประตูชัย" และตามมาซึ่งโจทย์ท้าทายเจ้าบ่าวเรียกรอยยิ้ม และต้องให้ซองใส่เงินแก่คนกั้นประตูถึงจะผ่านไปได้ เป็นกิจกรรมสนุกที่ญาติฝ่ายหญิงชอบมาก เพราะได้หยอกล้อและแกล้งว่าที่พี่เขยก่อนแต่งงาน และทำเช่นนั้นในประตูถัดไป เพียงแต่ว่าเมื่อถึงประตูทอง ประตูสุดท้ายแล้วเจ้าบ่าวและเฒ่าแก่ต้องทุ่มสุดตัว ก่อนที่จะได้เข้าไปพาเจ้าสาวออกมาทำพิธีหมั้นหมายต่อไป
ถึงแม้ว่าประเพณีดั้งเดิมของไทยจะมีเพียงแค่ 3 ประตู และวัสดุที่นำมาใช้กั้นก็เป็นเพียงแค่ผ้าแพรผืนสวย แพงหน่อยเห็นจะเป็นประตูทองที่ใช้สร้อยทองกั้น แต่ในปัจจุบันมีการประยุกต์วัสดุหลายอย่างนำมาใช้กั้นประตู ที่สำคัญมีหลายประตูเสียด้วย บางงานเยอะเสียจนซองที่เจ้าบ่าวเตรียมมาหมดก่อนจะถึงประตูสุดท้ายซะอีก
ต้องเตรียมเงินเท่าไหร่ และต้องใช้กี่ซอง
คำถามยอดนิยมฝ่ายเจ้าบ่าว คือการเตรียมซองกั้นต้องใส่เท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม และจะต้องใช้กี่ซอง ทั้งนี้ไม่ได้มีการระบุที่แน่ชัดว่าต้องเป็นตัวเลขเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมที่สุด เพราะความเหมาะสมนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งฐานะการเงินของทั้งฝ่ายบ่าวสาว, การตกลงกันกับญาติและเพื่อนเจ้าสาว รวมถึงการให้เกียรติแก่เฒ่าแก่ที่เชิญมาถือซอง
นอกจากเจ้าบ่าวที่จะเป็นฝ่ายถือซองแล้ว เฒ่าแก่ก็เป็นอีกหนึ่งคนสำคัญในพิธีกั้นประตูเงินประตูทอง ในอดีตเจ้าบ่าวจะไม่ได้เป็นผู้ถือซองเลยด้วยซ้ำ แต่ในปัจจุบันก็จะช่วยกันถือ ช่วยกันจ่ายซอง บางคนก็จะใช้ความเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ในการจ่ายซองในจำนวนที่เหมาะสมอีกด้วย
ทั้งนี้ พิธีกั้นประตูเงินประตูทอง อาจดูเป็นเพียงพิธีที่ไม่ได้สำคัญอะไรมากมาย เมื่อเทียบกับขั้นตอนอื่น แต่มีนัยสำคัญด้านความรู้สึกแอบแฝงเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นพิธีต้อนรับเจ้าบ่าวเข้าบ้านเจ้าสาว และเป็นความประทับใจแรกที่เจ้าบ่าวควรให้กับครอบครัวเจ้าสาว หวังว่ารายละเอียดแบบดั้งเดิมนี้ จะทำให้คู่รักคลายกังวลและสามารถใช้เวลาที่เหลือ ในการตระเตรียมงานส่วนอื่นได้