ทำความรู้จัก "เจ้าแม่กวนอิม" เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ผู้เปี่ยมไปด้วยความเมตตา เทพเจ้าที่คนไทยและคนจีนนับถือ ความเชื่อเรื่องการงดกินเนื้อวัว เพื่อเสริมมงคลให้ตนเอง เป็นเรื่องดีจริงหรือ ?
เจ้าแม่กวนอิม เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ผู้เปี่ยมไปด้วยความรัก และความเมตตาต่อสรรพสัตว์ หลายคนอาจเต็มไปด้วยภาพของสตรีในชุดขาว เทพเจ้าที่โดดเด่นในเรื่องความรัก และความมีเมตตา อีกหนึ่งองค์เทพที่ได้รับความนิยมทั้งคนไทยและคนจีน ได้รับความนิยมจากเหล่าผู้ศรัทธา เกิดเป็นการหลั่งไหลไปกราบไหว้บูชา ด้วยสัญลักษณ์แห่งความเมตตา ที่โปรดให้ทั้งคนและสัตว์พ้นทุกข์ วันนี้ Amarin Horoscope จะพาไปทำความรู้จักให้มากขึ้นกว่าเดิม หากพร้อมแล้วก็ไปดูได้เลยค่ะ!
เจ้าแม่กวนอิม แท้จริงเป็นเพศชาย ?
หลายคนอาจจดจำเจ้าแม่กวนอิม เป็นหญิงสวมชุดขาวเป็นส่วนมาก แต่แท้จริงแล้วเป็นเพศชาย ซึ่งเรื่องนี้มีหลักฐานตรงกัน ทั้งที่ในจีนและอินเดีย โดยอ้างอิงจากรูปลักษณ์ของพระโพธิสัตว์เพศชาย เช่นเดียวกับในอินเดีย โดยเรื่องนี้ถูกสันนิษฐานมาตั้งแต่สมัยสามก๊ก และ ราชวงค์จิ้น จนกระทั่งถึงสมัยหนานเป่ยเฉา อ้างอิงจากรูปวาดจิตรกรรมฝาผนัง และรูปปฏิมากรรมแกะสลักพระโพธิสัตว์กวนอิม ที่ปรากฏอยู่ในถ้ำม่อเกา
เชื่อกันว่าเหตุผลการเปลี่ยนแปลง จากเพศชายเป็นหญิงนั้น อาจมาจากในอดีตเพศหญิงมักถูกกดขี่ข่มเหง ทำให้ภาพลักษณ์ผู้โปรดสัตว์ ผู้ตกทุกข์ได้ยาก เป็นเสมือนการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากบ่วงกรรม และภาพของความอ่อนโยนที่มีต่อเด็ก จึงเป็นเสมือนตัวแทนของมารดา อีกทั้งรูปปั้นพระโพธิสัตว์กวนอิมในรูปแบบเพศหญิง ยังมีความสอดคล้องกับตำนวนเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน ในการการกำเนิดเจ้าแม่กวนอิม
เจ้าแม่กวนอิม ศาสนาอะไร ?
สืบเนื่องจากความเป็นมาของตำนานเจ้าแม่กวนอิม มีความชัดเจนเพิ่มขึ้นในยุคที่ศาสนาพุทธนิกายมหายาน ได้รับความนิยมในประเทศจีนและประเทศอื่น ในแถบเอเชียตะวันออก ที่เป็นการเผยแพร่ศาสนาควบคู่กับลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋า
รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม มีหลายรูปลักษณ์
ในช่วงศตวรรษที่ 19 มีการพบรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมในลักษณะที่ต่างกันไป ซึ่งเป็นประติมากรรมที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อของผู้คนในยุคที่ต่างกัน เป็นการแสดงออกที่สืบทอดมานับพันปี เช่น รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมพันมือ รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมในชุดขาว ซึ่งในแต่ละประเทศก็มีความเชื่อที่ต่างกันไป
อินเดียมักมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมพันมือ แบบไม่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่ชัดเจน โดยเชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของนิกายมหายาน ที่เชื่อกันว่าเกี่ยวกับเวทมนตร์ คาถา พิธีกรรมบูชาสักการะพระโพธิสัตว์ต่าง ๆ ส่วนในประเทศจีนก็สร้างรูปปั้น ตามแบบอินเดียแบบที่ไม่มีเพศ ก่อนที่จะมีการสร้างในรูปแบบหญิงชุดขาว เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรักของแม่ที่มีต่อลูก จึงเกิดเป็นรูปปั้นที่เห็นในแบบปัจจุบัน
ทั้งนี้รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมในแบบเพศหญิง เป็นที่เคารพยอมรับของชาวจีนอย่างกว้างขวาง เพราะพบตำนานที่สอดคล้องกับการเกิดเจ้าแม่กวนอิม การผสมผสานทางความเชื่อที่ปราศจากข้อขัดแย้ง เนื่องจากในสัทธรรมปุณฑรีกสูตรได้อธิบายว่า พระอวโลกิเตศวรนั้นสามารถแบ่งร่างเพื่อโปรดสรรพสัตว์ได้มากมาย มีทั้งปางบุรุษและสตรี
ความเชื่อเรื่องการกินเนื้อสัตว์ บูชาเจ้าแม่กวนอิม
หลายคนอาจเคยได้ยินความเชื่อ การห้ามกินเนื้อสำหรับผู้ที่นับถือเจ้าแม่กวนอิม โดยเป็นความเชื่อส่วนใหญ่ของชาวไทยเชื้อสายจีน โยจะไม่กินเนื้อวัวในช่วงกินเจ บางคนงดเนื้อวัวตลอดชีวิต รวมถึงการงดถวายอาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ โดยยึดถือจากความเชื่อที่ว่า พระโพธิสัตว์ที่มีความเมตตากรุณา โปรดสัตว์ ละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ความเชื่อนี้ไม่เป็นความจริงทั้งหมด ซึ่งในประเทศจีนผู้ที่นับถือเจ้าแม่กวนอิมบางส่วน อาจจยังตั้งใจในการไม่กินเนื้อวัว แต่โดยส่วนมากมักเป็นในผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ แต่ความเชื่อเรื่องการไม่กินเนื้อวัวนี้ เกิดจากอิทธิพลของซีรีส์กำเนิดเจ้าแม่กวนอิม ที่เข้ามาแพร่หลายในประเทศไทยเมื่อ 30 ปีก่อน ทำให้ผู้คนที่รับรู้เรื่องดังกล่าว ศรัทธาและริเริ่มในการงดเว้นกินเนื้อวัว
ทั้งนี้การเคารพนับถือหรือศรัทธาในเจ้าแม่กวนอิม เป็นเรื่องของความเชื่อส่วนบุคคล การศรัทธาไปควบคู่กับการงดเว้นเนื้อสัตว์ใหญ่ ร่วมกับการถือศีล หรือยึดมั่นในความดี ล้วนเป็นมงคลต่อตนเอง ทั้งนี้หากศรัทธาอย่างเดียวโดยไม่ทำอะไรให้ดีขึ้น ไม่สามารถเกิดเรื่องที่ดีกับตนเองได้