วันคเณศจตุรถี 2567 ตรงกับวันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2567 หนึ่งในเทศกาลเฉลิมฉลองที่คนทั่วโลกสนใจ เปิดวิธีบูชาพระพิฆเนศอย่างไรให้รุ่งเรือง
วันคเณศจตุรถี 2567 หนึ่งในวันสำคุญทางศาสนาฮินดู โดยเชื่อกันว่าในช่วงเวลาดังกล่าว พระพิฆเนศจะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อประทานพร ความโชคดีให้กับผู้ที่เคารพบูชา เป็นช่วงเวลาที่จะได้ใกล้ชิดกับพระองค์มากที่สุด เทศกาลนี้หนึ่งปีมี 1 ครั้ง วันคเณศจตุรถีในปี 2567 นี้ ตรงกับวันที่ 7 กันยายน 2567
วันคเณศจตุรถี หรือ เทศกาลคเณศจตุรถี คืออะไร
คเณศจตุรถี คือ พิธีสักการะพระคเณศ โดยถือกันว่าเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง เนื่องในวันที่ตรงกับวันประสูติของพระพิฆเนศ โดย จตุรถี แปลว่า ลำดับที่ 4 เป็นการใช้คำที่หมายถึง วันขึ้น 4 ค่ำ (ศุกลปักษะ จตุรถี) ในเดือนภัทรบท (Bhadrapad) หรือขึ้น 4 ค่ำ เดือน 10 ตามปฏิทินฮินดู ซึ่งวันคเณศจตุรถี หรือ เทศกาลคเณศจตุรถี แต่ละปีจะไม่ตรงกัน โดยจะอยู่ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ซึ่งในปี 2567 ตรงกับวันเสาร์ที่ 7 - วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน 2567
ในพิธีจะมีการปั้นเทวรูปพระพิฆเนศจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ดินเหนียว หรือวัสดุอื่น มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่เท่าตึก จากนั้นจะสร้าง "มณฑป" (Mandapa) ขึ้น เพื่อประดิษฐานเทวรูปดังกล่าว รูปแบบของมณฑปขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและงบประมาณของเจ้าภาพเป็นสำคัญ โดยต้องเชิญพราหมณ์มาทำพิธี "ปราณประติษฐา" เพื่อทำให้เทวรูปมีความศักดิ์สิทธิ์
จากนั้นทำการบูชา 16 ขั้นตอนตามหลักศาสนาที่เรียกว่า โษทโศปจาร เช่น การสรงด้วยนม ด้วยน้ำผึ้ง การบูชาด้วยดอกไม้ และเครื่องบูชาต่าง ๆ ตามด้วยสวดมนต์คเณศาถรวศีรษะ หรือ คเณศอุปนิษัทในคัมภีร์พระเวท และทำการบูชาด้วยประทีป หรือการอารตี เป็นขั้นตอนสุดท้าย นอกจากนี้ชาวฮินดูที่มีศรัทธาจะถือพรต อดอาหาร ทานแต่มังสวิรัติ ในช่วงเทศกาลจตุรถีอีกด้วย
การประดิษฐานพระคเณศ จะเริ่มประดิษฐานไว้ตั้งแต่วันขึ้น 4 ค่ำ ไปจนถึงวันขึ้น 14 ค่ำ ใช้เวลาเป็น 10 วัน ในทุกวันจะมีการชุมนุมกันสวดมนตร์ และทำพิธีอารตีในเวลาค่ำ ถวายสิ่งของ ทั้งผลไม้ ขนมหวาน ได้แก่ ลาดู และโมทกะ หญ้าแพรก เมื่อสิ้นสุดการบูชาแล้ว เมื่อถึงวันที่ 11 จะมีการทำพิธีที่เรียกว่า พิธีวิสรชัน หรือการส่งเทพเจ้ากลับเทวโลก เป็นการส่งเสด็จพระองค์กลับสู่สวรรค์ ด้วยการนำเทวรูปที่ทำการบูชาไปลอยน้ำ
เชื่อกันว่าการที่เทวรูปสลายสู่สภาวะเดิม เป็นการแสดงสภาวะของธรรมชาติ ถือว่าทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ต่อการเพาะปลูก เพราะแม่น้ำและดินจะได้รับพรจากองค์เทวรูปที่ผ่านพิธีกรรมแล้ว
วิธีเตรียมของไหว้ บูชาพระพิฆเนศ
ข้อควรระวังระหว่างทำพิธีบูชาพระพิฆเนศ
ไม่ควรใช้รูปปั้นหรือองค์พระพิฆเนศที่บูชาอยู่ทุกวัน มาประกอบพิธีคเณศจตุรถี เพราะความเชื่อและวิถีการเดิมจะต้องนำองค์ท่านเข้าสู่พิธีวิสารชัน หรือการนำไปลอยน้ำเพื่อคืนพลังแก่องค์ท่าน จึงไม่สามารถนำกลับมาบูชาได้อีกครั้ง
แต่ทั้งนี้หากบูชาด้วยตนเองที่บ้าน สามารถนำองค์พระพิฆเนศที่บูชาอยู่มาทำพิธีได้ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีเพียงแค่ทำพิธีเชิญองค์ท่านกลับขึ้นหิ้ง เพื่อบูชาต่อ
วิธีบูชาพระพิฆเนศ ทำพิธีคเณศจตุรถีด้วยตัวเอง
คาถาไหว้พระพิฆเนศ หรือ บทมันตราบูชาพระพิฆเนศ
"โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา" (สวด 9 หรือ 108 จบ)
ข้าพเจ้าขอเชิญพระองค์ ประทับยังแท่นที่เตรียมไว้
คำกล่าวถวายของไหว้
โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา ข้าพเจ้าขอถวายน้ำสะอาด หรือน้ำนม
ข้าพเจ้าขอถวายผ้าสำหรับนุ่งห่ม
นอกจากนี้ยังมีเครื่องหอมที่ข้าพเจ้าเตรียมมา ผงจุ่มเจิมต่อพระองค์ นำผงเจิม
ข้าพเจ้าขอน้อมถวาย มาลัยดอกไม้ ธูปหอม กำยาน เครื่องบริโภค ผลไม้ ขนมหวาน หมาก พลู หญ้าแพรก นี้แด่พระองค์
จากนั้นตั้งจิตอธิษฐานขอพร
แล้วจบด้วย "โอม ศานติ ศานติ ศานติ"
ขั้นตอนถวายของไหว้
เริ่มจากการกล่าวอัญเชิญพระคเณศ ว่าดังนี้ "โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา" ข้าพเจ้าขอเชิญพระองค์ ประทับยังแท่นที่เตรียมไว้
จากนั้นให้ท่อง "โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา ข้าพเจ้าขอถวายน้ำสะอาด หรือน้ำนม" แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด เช็ดองค์เทวรูป ทำความสะอาด เชิญองค์เทวรูปกลับแท่นพิธี
จากนั้นเอ่ยต่อว่า "ข้าพเจ้าขอถวายผ้าสำหรับนุ่งห่ม" อาจจะนุ่งหรือคลุม หรือวางไว้เบื้องหน้า
เอ่ยต่อว่า "นอกจากนี้ยังมีเครื่องหอมที่ข้าพเจ้าเตรียมมา ผงจุ่มเจิมต่อพระองค์" ให้นำผงเจิม เช่น ผงจันทร์ ผงกุมกุม ผงซินดู เจิมที่เทวรูป นำน้ำหอมประพรมที่เทวรูป หากมีเครื่องประดับ เตรียมนำสวมเช่น สร้อย กำไล สวมคล้องต่อเทวรูป หรือวางไว้เบื้องหน้า
เอ่ยต่อว่า "ข้าพเจ้าขอน้อมถวาย มาลัยดอกไม้ ธูปหอม กำยาน เครื่องบริโภค ผลไม้ ขนมหวาน หมาก พลู หญ้าแพรก นี้แด่พระองค์ นำดอกไม้ มาลัยที่เตรียมไว้ คล้องถวายต่อเทวรูป"
ปิดท้ายด้วยการตั้งจิตอธิษฐานขอพร แล้วจบด้วยกล่าวบูชาสรรเสริญองค์ท่าน "โอม ศานติ ศานติ ศานติ" 9 หรือ 108 จบ
พิธีคเณศจตุรถี เป็นหนึ่งในพิธีที่แสดงให้เห็นความร่วมมือร่วมใจของผู้ที่มีจิตเคารพและศรัทธาในเรื่องเดียวกัน จึงกลายเป็นหนึ่งในพิธีการ เทศกาลเฉลิมฉลองที่ผู้คนให้ความสนใจไปทั่วโลก ทั้งนี้หากบูชาด้วยตนเองที่บ้าน ถ้าหาของไหว้หรือของถวายได้ทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่ดี หาไม่ได้ไม่จำเป็นต้องบังคับหามา เอาเท่าที่หาได้ เพียงแต่ระหว่างการทำพิธีต้องตั้งใจและตั้งจิตให้บริสุทธิ์
ที่มา : คเณศทุรคาอารยัน (ganeshthulaka.com) / ชุมชนคนรักฮินดู (forum.hindumeeting.com)
Advertisement