Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
Deepfake ปัญญาประดิษฐ์ที่อันตรายต่อผู้หญิง เมื่อถูกตัดต่อลง Telegram

Deepfake ปัญญาประดิษฐ์ที่อันตรายต่อผู้หญิง เมื่อถูกตัดต่อลง Telegram

5 ก.ย. 67
16:14 น.
|
875
แชร์

จะเป็นอย่างไร? เมื่อ Deepfake กลายเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่อันตรายต่อผู้หญิง เมื่อถูกตัดต่อคลิปโป๊เสมือนจริงลงห้องแช็ตในแอป Telegram

Deepfake กลายเป็นหนึ่งในปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างความอันตรายให้กับผู้หญิงหลายคน โดยเฉพาะหากเป็นการนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ได้นำไปใช้ในทิศทางที่ดี ย่อมเกิดเป็นผลลัพธ์ที่สร้างผลกระทบ มากกว่าสร้างความยินดีให้กับผู้คน โดยเฉพาะหากถูกนำไปใช้ในเชิงสายดาร์ก การตกเป็นเหยื่อจากการเทคโนโลยี Deepfake กับห้องแช็ตในแอป Telegram จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่อีกครั้งในประเทศเกาหลีใต้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 ประชาชนผู้หญิงในเกาหลีใต้เคยเผชิญกับคดีความใหญ่อย่าง Nth Room ห้องแช็ตออนไลน์ในแอป Telegram ที่ขายรูปและคลิปอนาจาร แบล็คเมล์ ค้ามนุษย์ ล่วงละเมิดทางเพศ และแสวงหาประโยชน์จากผู้หญิง ถือเป็นคดีอาชญากรรมทางเพศที่โหดร้ายที่สุดในรอบหลายปีของเกาหลีใต้

ห้องแช็ต Nth Room ถือเป็นจุดกำเนิดของการก่อคดีอาชญากรรมทางเพศ ที่เกิดเป็นเคสเลียนแบบอย่างห้องแช็ต Doctor’s Room และกรณีล่าสุดห้องแช็ต Deepfake

โดยห้องแช็ตที่เกี่ยวกับเพศส่วนใหญ่ มักถูกกระจายเปิดอยู่ในแอป Telegram เหยื่อทั้งหมดมักเกิดจากคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมห้อง ครู คนในครอบครัว รวมไปถึงแฟนคลับที่ตัดต่อหน้าศิลปินด้วย

pic5

 

  • AI Deepfake คืออะไร ?

Deepfake หรือ เทคโนโลยีที่สร้างจากปัญญาประดิษฐ์ โดยเป็นการใช้สื่อเพื่อการปลอมแปลงบุคคลดังกล่าว ที่สามารถสร้างได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งเสมือนจริง คลิปวิดีโอเสมือนจริง รวมไปถึงเสียงของบุคคลดังกล่าวด้วย เป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในรูปแบบการเรียนรู้เชิงลึก ที่เลียนแบบการทำงานของโครงข่ายประสาทของมนุษย์

ด้วยเทคโนโลยีล้ำหน้าดังกล่าว ทำให้การใช้งาน Deepfake กลายเป็นเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการปลอมแปลงคุณลักษณะทุกอย่าง ของบุคคลที่กล่าวถึงได้อัตโนมัติ และเป็นการเลียนแบบที่แนบเนียนที่สุด และด้วยความที่มีชื่อเสียงทางการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง จึงกลายเป็นเทคโนโลยีที่เป็นภัยทันที

ข้อมูลจาก business insider ได้ระบุถึงการใช้งาน Deepfake ไว้ดังนี้ "มีการคาดการณ์ว่าคลิปวิดีโอที่ถูกสร้างด้วย AI Deepfake จำนวนกว่าร้อยละ 96 ล้วนเป็นสื่อลามกอนาจาร ที่ถูกใช้ในการลักลอบปลอมแปลงใบหน้าของดารา คนดัง นักแสดง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง ใช้แทนนักแสดงหนังโป๊เปลือย ซึ่งเป็นการกระทำที่อาจนำไปใช้ในทางที่ผิด"

ด้วยอันตรายของ AI Deepfake ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับบุคคลเป็นวงกว้าง ภายหลังหลายประเทศจึงได้มีการออกกฎควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบที่เข้มงวดมากขึ้น บางประเทศมีการออกกฎหมายแบนการใช้งาน AI Deepfake นอกจากนี้แพลตฟอร์มยักษ์ทั้งหลาย ยังมีการออกมาตรการรองรับสำหรับการใช้ AI ที่จงใจสร้างความเสียหายอีกด้วย

pic6

 

  • Deepfake ไม่ได้มีแค่ห้องใหญ่ห้องเดียว แต่มีห้องรองรับสมาชิกกว่า 200,000 ราย

สำหรับห้องแช็ต Deepfake เป็นหนึ่งในการปลอมแปลงรูปผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถสร้างได้ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว รวมไปถึงคลิปวิดีโอเสมือนจริง โดยที่ผู้เสียหายไม่รับทราบหรือยินยอม เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการเรียนรู้จากข้อมูลลักษณะของบุคคลนั้น ทำให้บางครั้งสามารถพบผู้เสียหายเป็นไอดอลคนดังได้

ห้องแช็ตดังกล่าวกลายเป็นความสยองขวัญทั่วทั้งระบบการศึกษาก็ว่าได้ เพราะข้อมูลล่าสุดได้รับการเปิดเผยว่า มีเด็กนักเรียน ไม่ว่าจะชั้นประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัย หลายพันคนตกเป็นเหยื่อ รวมไปถึงครูผู้หญิงที่ถูกแอบถ่ายและนำไปตัดต่อเช่นกัน เรื่องราวทวีความรุนแรงจนมีประกาศเตือนว่า

"ไม่ควรเซลฟี่หรือถ่ายรูปติดใบหน้าตัวเองลงในโซเชียลมีเดีย"

จำนวนผู้เสียหายจากห้องแช็ต Deepfake อาจยังไม่ปรากฏตัวเลขที่ชัดเจน แต่เจ้าหน้าที่เชื่อว่า มีเหยื่อหลายรายที่คาดว่า อายุต่ำกว่า 16 ปี ที่เป็นเกณฑ์ความยินยอมส่วนบุคคลของเกาหลีใต้ ทั้งนี้ตัวผู้ก่อเหตุเองก็มีบางส่วนที่เป็นวัยรุ่น หรือผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย

 

  • คดีอาชญากรรมทางเพศผ่านการใช้งาน Deepfake ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นไม่มีลด

ข้อมูลจากกรมตำรวจเกาหลีใต้ได้ระบุว่า ในปี 2567 มีคดีอาชญากรรมทางเพศที่เกี่ยวกับ AI Deepfake เป็นจำนวนกว่า 297 คดี เพียงแค่เดือนมกราคมทั้งเดือนก็มีจำนวนสูงกว่าปีก่อนถึง 180 คดี

นอกจากนี้จำนวนคดีที่พบในปัจจุบัน ถือเป็นจำนวนที่มากกว่าถึงสองเท่า จากคดีที่เกิดขึ้นในปี 2564 ที่เป็นการเริ่มเก็บข้อมูลครั้งแรก

ผู้ต้องหาในการกระทำความผิดคดีอาชญากรรมทางเพศ ผ่านเทคโนโลยี Deepfake ส่วนใหญ่ที่จับกุมได้กว่า 113 รายจากจำนวนผู้ต้องหาทั้งหมด 178 ราย เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น มีตั้งแต่อายุ 10 กว่าไปจนถึง 20 กว่าปีทั้งสิ้น และเชื่อว่าจำนวนผู้ก่อเหตุที่ยังจับไม่ได้ หรือผู้ที่กระทำผิดจริงต้องมีมากกว่าตัวเลขที่ปรากฏอย่างเป็นทางการ

pic4

 

  • ความน่าสะอิดสะเอียนของการใช้ห้องแช็ตใน Telegram

บรรดาห้องแช็ตที่ถูกเปิดในแอปพลิเคชัน Telegram ที่มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 200,000 บัญชีผู้ใช้งาน ถูกแบ่งแยกย่อยห้องแช็ตไปตามประเภท เช่น ห้องที่ใช้ส่งเฉพาะแม่, ห้องที่ใช้ส่งเฉพาะพี่สาว, ห้องที่ใช้ส่งเฉพาะน้องสาว, ห้องที่ใช้ส่งเฉพาะลูกพี่ลูกน้อง, ห้องที่ใช้ส่งเฉพาะลูกสาว, ห้องที่ใช้ส่งเฉพาะคนรู้จัก และห้องที่ใช้ส่งเฉพาะไอดอลคนดัง ฯลฯ

โดยห้องที่ยกตัวอย่างไปในขั้นต้น ถือเป็นขั้นแรกของการมาสิทธิ์เข้าใช้งานห้องใหญ่ กล่าวคือถ้าคุณจะเข้าเป็นสมาชิก ต้องมีการเริ่มทำความผิดก่อน ด้วยการใช้วิธีอัปโหลดรูปของใครก็ได้เข้าไปในห้องแชต จากนั้นรูปดังกล่าวจะกลายเป็น Deepfake ภาพโป๊เปลือย แล้วค่อยใช้ภาพนี้ในการแลกสิทธิ์ใช้งาน โดยผู้ใช้บริการจะได้โอกาสในการทำรูปดัดแปลงฟรี 2 ครั้ง จากนั้นต้องเสียค่าบริการหรือการใช้ เพชร ซึ่งมีราคาต่อชิ้น 0.49 USD หรือ 16.75 บาท

สำหรับผู้ที่ใช้งานห้องแช็ต Telegram เพื่อเข้าดูข้อมูลอนาจาร จะต้องถูกบังคับให้ซื้อเพชรขั้นต่ำที่ 10 เพชร หากซื้อในปริมาณที่สูง ราคาก็จะยังลดลง (กล่าวคือ การซื้อเพชรขั้นต่ำที่จำนวน 10 ชิ้น คือต้องจ่ายในราคา 167.5 บาทไทย)

นอกจากนี้ยังมีโปรโมชันรับเพชรฟรี หากผู้ใช้บริการแนะนำให้เพื่อนเข้ามาใช้งานได้ และที่สำคัญการจ่ายเงินทุกอย่าง ต้องเป็นการชำระผ่านคริปโตเท่านั้น

 

  • วิธีจัดการกับปัญหาอาชญากรรมทางเพศครั้งใหญ่อีกครั้งของเจ้าหน้าที่

ระหว่างการดำเนินการปราบปราม เกาหลีใต้ได้เรียกร้องให้ผู้ก่อตั้ง Telegram รับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น กล่าวคือในช่วงที่ต้องเผชิญกับปัญหา Deepfake ในแอปพลิเคชัน Telegram เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ พาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) ผู้ก่อตั้ง Telegram ถูกจับกุมที่ฝรั่งเศส เนื่องจากการปล่อยให้อาชญากรใช้ประโยชน์จากแอปในการก่อความผิด โดยเป็นการขอความร่วมมือร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ Telegram

หน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเพศ ได้เปิดเผยว่า

จะทำการปราบปราม Deepfake ที่จัดทำเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศอย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังได้ประกาศอีกว่าจะผลักดันกฎหมายให้เข้มงวดขึ้น เพื่อให้การใช้งานเหล่านี้หลายเป็นความผิดทางอาญา

พร้อมทั้งรับคำว่าจะปราบปรามเรื่องการอาชญากรรมทางเพศในดิจิทัลให้สำเร็จภายในระยะเวลา 7 เดือน จัดตั้งสายด่วน 24 ชั่วโมงสำหรับผู้เสียหายที่ต้องการความช่วยเหลือ และจะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่เพื่อกำกับตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

pic3

 

เรื่องของคดีความอาชญากรรมทางเพศ ที่เกิดจากเทเลแกรม (Telegram) ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นภายใต้เกาหลีใต้ ในเวียดนามก็เคยเกิดเรื่องในลักษณะนี้ขึ้นเช่นกัน นอกเหนือไปกว่านั้น สังคมไทยเกิดการตั้งคำถามอีกครั้ง เมื่อผู้ใช้ X (ทวิตเตอร์) ได้ออกมาตั้งคำถามว่า

"ในเมื่อไทยก็มีปัญหาในลักษณะแบบนี้ ด้วยการส่งต่อคลิปวิดีโอในกรุ๊ปไลน์ หรือเข้าใช้งานผ่านบัญชีทวิตเตอร์ หากเป็นการส่งต่อโดยที่เหยื่อไม่ได้ยินยอม จะมีวิธีการใดที่สามารถจัดการได้บ้าง"

เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด จากการพัฒนาเพื่อใช้ในการบำบัด ในวันต่อมากลับกลายเป็นดาบสองคมได้ ดังนั้นแล้วการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบใดก็ตาม ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากคุณเป็นผู้ใช้งานสิ่งของเหล่านี้ ควรต้องระวังว่ามันจะสร้างความเสียหายให้กับคนอื่น อีกทั้งก่อนการส่งต่อสิ่งใดก็ตาม ควรต้องตรวจสอบให้มั่นใจทุกครั้ง เพื่อไม่ให้การส่งต่อในครั้งนั้นเป็นเหมือนฝันร้ายของใครคนใดคนหนึ่ง

 

ที่มา : Business Insider (businessinsider.com) / BBC (bbc.com) / The Korea Times (koreatimes.co.kr) / เดอะการ์เดียน (theguardian.com)

Advertisement

แชร์
Deepfake ปัญญาประดิษฐ์ที่อันตรายต่อผู้หญิง เมื่อถูกตัดต่อลง Telegram