Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
10 ข่าวปลอม ที่ประชาชนหลงเชื่อ เช็กก่อนแชร์ กันโดนหลอกจากมิจฉาชีพ

10 ข่าวปลอม ที่ประชาชนหลงเชื่อ เช็กก่อนแชร์ กันโดนหลอกจากมิจฉาชีพ

23 ก.ย. 67
17:03 น.
|
565
แชร์

อย่าเชื่อ อย่าแชร์! 10 อันดับ ข่าวปลอม Fake News ที่ประชาชนหลงเชื่อ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ต้องเช็กก่อนแชร์ กันโดนหลอกจากมิจฉาชีพ!

ข่าวปลอม (Fake News) หรือ หลอกให้เชื่อ ลวงให้แชร์ กลายมาเป็นปัญหาหลักภายใต้การใช้โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในยุคที่อินเทอร์เน็ตคือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ทุกคนล้วนเป็นได้ทั้งผู้รับและผู้ผลิตข้อมูลข่าวสาร นอกจากจะมีข่าวสารที่เป็นข้อมูลมีประโยชน์จากความจริงแล้ว ยังมีข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดทั้งจริงและไม่จริง ที่ยากแก่การตรวจสอบในเวลาทันที จนกลายเป็นการบิดเบือนเนื้อหาจนไม่เหลือเค้าโครงข้อมูลความเป็นจริง หนึ่งในตัวกระตุ้นที่ก่อปัญหาในการสื่อสารอย่างที่ตกเป็นข่าวทุกวันนี้

Fake News หากหมายถึงแค่ข่าวปลอม อาจดูเป็นขอบเขตที่คับแคบจนเกินไป เพราะในความเป็นจริงแล้ว Fake News ไม่ได้หมายถึงข่าวไม่จริงเท่านั้น แต่ยังรวมไปยังข้อมูลต่าง ๆ ที่ไม่เป็นความจริงอยู่ด้วย รวมถึงการเขียนข่าวที่ได้รับการสนับสนุนอย่างปิดบังหรือแอบแฝง ซึ่งนำเสนอในสื่อสังคม และแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ ซึ่งข้อมูล เนื้อหา ข่าวสาร ที่มีความไม่จริงอยู่ จะสร้างความเข้าใจผิด และสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนและสังคมได้

 

ผลกระทบจาก ข่าวปลอม (Fake News)

  • ผู้รับสารได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง
  • ผู้รับสารเกิดความตระหนกตกใจ
  • ผู้ถูกแอบอ้างได้รับความเสียหาย
  • เกิดข้อมูลที่ทำให้สังคมเกิดความขัดแย้ง

 

pic-in-web-4

 

ดีอี เผยจำนวนข่าวปลอม ที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษก กล่าวถึงการตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง "ประกาศยกเลิกการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท" นอกจากนี้ยังได้เปิดเผยผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม จากข้อความที่แจ้งเข้ามาทั้งหมด 844,660 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งสิ้น 256 ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 240 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 16 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 200 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 100 เรื่อง ทั้งนี้กระทรวงดีอีได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

  • กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 103 เรื่อง
  • กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 30 เรื่อง
  • กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 25 เรื่อง
  • กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 5 เรื่อง
  • กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 37 เรื่อง

 

ข่าวปลอม 10 อันดับที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุด

  • อันดับที่ 1 : เรื่อง ประกาศยกเลิกการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
  • อันดับที่ 2 : เรื่อง สธ. เตือนประชาชนระวังไข้หวัดใหญ่ระบาดรุนแรง แนะอย่าขาดน้ำ
  • อันดับที่ 3 : เรื่อง ไทยเตรียมรับผลกระทบมวลน้ำจากประเทศจีนที่ไหลผ่านแม่น้ำโขง
  • อันดับที่ 4 : เรื่อง พายุไต้ฝุ่นเบบินคา ลูกนี้แรงที่สุดเท่าที่มีมาตั้งแต่ปี 1949 เตือนคนไทยเตรียมรับมวลน้ำจำนวนมาก
  • อันดับที่ 5 : เรื่อง เมื่อเสียชีวิตคนไทยทุกคนจะได้สิทธิรับเงินจาก พม. จำนวน 2,000 บาท
  • อันดับที่ 6 : เรื่อง พบช่องโหว่ของแอปพลิเคชันทางรัฐ มิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลคนไทยได้
  • อันดับที่ 7 : เรื่อง อาหารที่อุ่นด้วยไมโครเวฟ มีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ไปรบกวนคลื่นสมอง
  • อันดับที่ 8 : เรื่อง ล้างไขมันในลำไส้ ด้วยชามะละกอ
  • อันดับที่ 9 : เรื่อง กรมอุตุฯ เตือนประเทศไทยอุณหภูมิลดลงมากสุดในรอบ 14 ปี ฝนตกหนัก กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเกิดพายุฤดูร้อน
  • อันดับที่ 10 : เรื่อง กฟภ. แจ้งผู้ใช้ไฟสามารถตรวจสอบสิทธิ์ เพื่อขอรับเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า ผ่านไลน์

 

จากการพิจารณาข่าวปลอมทั้ง 10 อันดับที่ประชาชนให้ความสนใจ พบว่า ข่าวที่เกี่ยวข้องตามนโยบาลรัฐบาล หน่วยงานรัฐ และข่าวเรื่องอุทกภัย หรือข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชน หากกลายเป็นการส่งต่อในสังคมโดยที่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง อาจเกิดความเสียหาย การเข้าใจผิด เกิดเป็นความวิตกกังวลให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง

 

เทคนิคการตรวจสอบก่อนส่งต่อ

  • ตรวจสอบหาต้นตอของข่าว : บางครั้งข่าวเท็จหลายตัว อาจเป็นข่าวเก่าที่ถูกหยิบมาเล่าใหม่ เพื่อให้เกิดความแตกตื่น หรือเพื่อประโยชน์แอบแฝง
  • ตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวสารหรือข้อมูล : เช่น ตรวจหาสำนักข่าวที่เผยแพร่ ตรวจหาหน่วยงานที่เผยแพร่ หรือชื่อผู้ให้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ
  • สอบถามผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ โดยตรง : อาจเป็นการสอบถามด้วยตัวเอง หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลอื่น ที่มีความน่าเชื่อถือ โดยยึดถือจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ
  • ระวังการส่งต่อข้อมูลที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง : เช่น ข้อมูลเท็จทางการเมือง, ข่าวสถานการณ์ระหว่างประเทศ จำเป็นต้องหาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนส่งต่อ เพราะข้อมูลที่ไม่เป็นจริงอาจนำไปสู่ความไม่สงบสุขในสังคม หรือเกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งในระดับรุนแรง

 

อย่างไรก็ตาม ความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอม ที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์หรือสื่อโซเชียล ยังเป็นเรื่องที่ควรให้ความสนใจ เพราะหากขาดความรู้เท่าทัน และประมาทจนเกิดการส่งต่อข้อมูลนั้น อาจทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัด

ทั้งนี้หากพบข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือเคลือบแคลงในข้อเท็จจริง สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) หรือ Line ID: @antifakenewscenter และ เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com

 

ที่มา : กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (facebook.com) / กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (thaimediafund.or.th)

Advertisement

แชร์
10 ข่าวปลอม ที่ประชาชนหลงเชื่อ เช็กก่อนแชร์ กันโดนหลอกจากมิจฉาชีพ