3 สมุนไพร ลดเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด อาหาร เครื่องดื่ม แนะนำ-ควรเลี่ยง

30 ก.ย. 67

กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะ 3 สมุนไพร ลดเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด พร้อมเคล็ดลับ ออกกำลังกายแบบวิถีไทย เสริมสร้างหัวใจแข็งแรง

วันที่ 29 กันยายน ทุกปี เป็น วันหัวใจโลก (World Heart Day) โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย และมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค ได้แก่ ประวัติครอบครัว ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ภาวะอ้วน เพศ อายุ และระดับไขมันในเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขอแนะนำ 3 สมุนไพรไทย ที่ช่วยยับยั้งการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่

1. กระเทียม
ในกระเทียมมีเอนไซม์อัลลิเนส (allinase) โดยการนำกระเทียมไปบด หั่น หรือการสับ ก่อนรับประทานเพื่อกระตุ้นให้เอนไซม์ในกระเทียมผลิตสารที่มีสรรพคุณออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดระดับไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกาย ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดและลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

2. ดอกคำฝอย
สรรพคุณ ช่วยลดไขมันในเลือด ช่วยบำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงน้ำเหลือง และ บำรุงประสาท

3. กระเจี๊ยบแดง
เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร สรรพคุณ ขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา และมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด โดยลดการสร้างไขมันและเซลล์ไขมัน ลดการเกิดออกซิเดชันของ LDL (ไขมันไม่ดี) สำหรับ กระเจี๊ยบแดง มีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง

หวาน มัน เค็ม กะทิ เลี่ยงได้เลี่ยง!

หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารที่มีส่วนประกอบของกะทิ อาหารทอด และอาหารที่มีรสชาติหวาน มัน เค็ม สำหรับเมนูที่อยากแนะนำ เช่น เห็ดรวมตุ๋นกระเทียมพริกไทย ปลานึ่งมะนาว ต้มจืดใบกะเพรา ที่สำคัญ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับร่างกายของตนเอง ในส่วนการออกกำลังกายแบบวิถีไทย ด้วย "ฤๅษีดัดตน" ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ท่านสามารถเลือกปฏิบัติได้เช่นกัน

ออกกำลังกายท่า "ฤๅษีดัดตน" ดีอย่างไร

โดยเป็นท่าการบริหารร่างกายที่ทำให้ร่างกายตื่นตัว ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก นอกจากจะได้ความแข็งแรงจากการฝึกปฏิบัติทางร่างกาย ยังเป็นการฝึกลมหายใจ ร่วมกับการทำสมาธิ ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายนับเป็นการออกกำลังกาย

การลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายแล้ว ควรควบคุมอารมณ์ให้แจ่มใสไม่เครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และ ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ที่สำคัญ ควรตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับศาสตร์การแพทย์แผนไทย และสมุนไพร สามารถของคำปรึกษา จากแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ หรือติดต่อโดยตรง ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line @DTAM

461619667_938895761602847_399

ข้อมูล : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

 

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด