ก๊าซ CNG คืออะไร น่ากลัวหรือไม่ มีคุณสมบัติเป็นอย่างไร

5 ต.ค. 67

CNG หรือ COMPRESSED NATURAL GAS ซึ่งบ้านเราเรียกกันว่า NGV หรือ NATURAL GAS FOR VEHICLE ซึ่งแปลว่า ก๊าซธรรมชาติสำหรับพาหนะ เป็นก๊าซเชื้อเพลิงที่มีก๊าซมีเทนเป็นส่วนประกอบหลัก สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ ได้เช่นเดียวกับน้ำมันเบนซินและดีเซล โดยที่ก๊าซ NGV จะถูกอัดจนมีความดันสูงมากกว่า 3,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว ซึ่งในจุดนี้เอง ทำให้ในต่างประเทศเรียกก๊าซชนิดนี้ว่า COMPRESSED NATURAL GAS หรือ CNG ซึ่งก็แปลตรงตัวว่า ก๊าซธรรมชาติอัด นั่นเอง

คุณสมบัติของก๊าซ CNG

  • มีสัดส่วนของคาร์บอนน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และมีคุณสมบัติเป็นก๊าซ ทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์มากกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และปริมาณไอเสีย ที่ปล่อยออกจากเครื่องยนต์ใช้ก๊าซธรรมชาติ มีปริมาณต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น
  • เป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดไม่ก่อให้เกิดควันดำหรือสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน จึงสามารถลดปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
  • เป็นเชื้อเพลิงที่สามารถผลิตได้ในประเทศ จึงมีราคาถูกกว่าน้ำมัน และสามารถประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการลดการนำเข้าน้ำมันดิบ

CNG เป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในรถยนต์ที่มีความปลอดภัยมาก เรียกว่าปลอดภัยกว่าน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล และแน่นอนว่าปลอดภัยกว่าก๊าซหุงต้มหรือ LPG หลายเท่า ที่ CNG มีความปลอดภัยมากกว่าเชื้อเพลิงตัวอื่น ๆ ก็เพราะคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครนั่นเอง อย่างเช่น เบากว่าอากาศ แต่ก๊าซหุงต้มและไอน้ำมันเบนซินหรือดีเซลหนักกว่าอากาศ

ข้อดีของก๊าซ CNG

  • รถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติมีต้นทุนการบำรุงรักษาต่ำกว่ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนชนิดอื่น
  • ระบบเชื้อเพลิง CNG ได้รับการปิดผนึกเพื่อป้องกันการสูญเสียเชื้อเพลิงจากการรั่วไหลหรือการระเหย
  • CNG ปล่อยมลพิษโดยตรงน้อยกว่าน้ำมันเบนซิน
  • ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ CNG ต่ำกว่าเชื้อเพลิงน้ำมันเบนซิน
  • CNG มี โอกาสติดไฟบนพื้นผิวที่ร้อนน้อยกว่า เนื่องจากมีอุณหภูมิติดไฟเองต่ำ

ดังนั้นเมื่อเกิดรั่วไหล ก๊าซ CNG จะไม่สะสมอยู่บนพื้นดินจนเกิดการลุกไหม้เหมือนเชื้อเพลิงอื่น ๆ นอกจากนั้น อุณหภูมิที่ก๊าซ CNG จะลุกติดไฟในอากาศเองได้ ต้องสูงถึง 650 องศาเซลเซียส ในขณะที่เชื้อเพลิงอื่น ๆ ลุกติดไฟได้ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่ามาก อีกทั้งความเข้มข้นขั้นต่ำสุดที่จะลุกติดไฟได้ของก๊าซ CNG จะต้องมีปริมาณสะสมถึง 5% ในขณะที่ก๊าซหุงต้มหรือ LPG จะอยู่ที่ 2% เท่านั้นนั่นเอง

ข้อเสียของ ก๊าซ CNG

รถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ต้องใช้พื้นที่ในการเก็บเชื้อเพลิงมากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินทั่วไป เนื่องจากเป็นก๊าซอัด ไม่ใช่ของเหลวอย่างน้ำมันเบนซิน CNG จึงใช้พื้นที่มากกว่า เทียบก้บถังเก็บน้ำมันในรถยนต์ ถังที่ใช้เก็บ CNG จะต้องใช้พื้นที่ในท้ายรถเป็นส่วนใหญ่ หรือการดัดแปลงให้ใช้งาน CNG หลายๆ ถังเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีน้ำหนักบรรทุกมากขึ้นตามมาเช่นกัน นอกจากจะทำให้สูญเสียกำลังของเครื่องยนต์แล้ว มีผลต่ออุปกรณ์รองรับน้ำหนัก เช่น โช้คอัพต้องรับน้ำหนักที่เพ่ิมมากขึ้น เกิดการสึกหรอ การชำรุดของอุปกรณ์ภายในเครื่่องยนต์ และการติดตั้ง ดัดแปลงเครื่องยนต์ติดก๊าซ จะหมดการรับประกันจากศูนย์บริการรถยนต์ เนื่องจากดัดแปลงสภาพ

การบำรุงรักษารถ NGV

  • ตรวจสอบระดับน้ำหล่อเย็นในถังพักและในหม้อน้ำให้อยู่ในระดับที่มาตรฐานกำหนด
  • เครื่องยนต์จะสตาร์ทโดยใช้น้ำมันเบนซินเสมอ จึงควรมีน้ำมันอยู่ในถังอย่างน้อยประมาณ 1 ใน 3 เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดกับปั๊มเชื้อเพลิง
  • อุปกรณ์บางส่วนทำงานด้วยระบบไฟฟ้าจึงควรระวังไม่ให้อุปกรณ์เหล่านี้สัมผัสกับน้ำ
  • เปลี่ยนน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ (น้ำมันเครื่องฯ) ตามระยะเวลาที่บริษัทผู้ผลิตรถแนะนำ
  • ทำความสะอาดไส้กรองอากาศทุก 1,000 กิโลเมตร และเปลี่ยนไส้กรองอากาศทุกๆ 10,000 กิโลเมตร
  • เปลี่ยนกรองก๊าซฯ ทุกๆ 40,000 กิโลเมตร หรือทุก 1 ปี
  • เปลี่ยนหัวเทียนทุกๆ 40,000 กิโลเมตร
  • ตรวจสอบ และตั้งบ่าวาล์วไอเสีย ทุก 40,000 – 60,000 กิโลเมตร
  • ควรสลับใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกๆ วัน เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานของบ่าวาล์วไอเสียของเครื่องยนต์
  • ตรวจสอบรอยรั่วของท่อก๊าซ NGV ทุกเดือน โดยใช้ฟองสบู่ลูบตามท่อและอุปกรณ์ NGV หรือใช้เครื่องตรวจวัดก๊าซฯ รั่วตรวจสอบ
  • เมื่อได้กลิ่นก๊าซ NGV ให้หยุดการใช้ระบบก๊าซทันที โดยการกดสวิตช์เลือกใช้น้ำมัน ปิดวาล์วหัวถัง และนำรถเข้ารับการตรวจสอบจากศูนย์ติดตั้งฯ
  • เข้ารับการบริการตรวจเช็คอุปกรณ์ NGV จากช่างผู้ชำนาญการของศูนย์ติดตั้งฯ เท่านั้น (ข้อมูลจาก pttplc)

การตรวจสภาพรถติดก๊าซ CNG

การตรวจสภาพรถติดก๊าซ NGV มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ 1.การตรวจสภาพถังประจำปี และ 2.การตรวจสภาพถังครบ 10 ปี ซึ่งตามกฎหมายใหม่ (ประกาศฯ กรมการขนส่งทางบก ๒๕๖๕) กำหนดให้รถติดก๊าซ NGV ต้องตรวจสภาพเป็นประจำทุกปี ส่วนถังก๊าซที่มีอายุการใช้งานครบ 10 ปีแล้ว สามารถเข้ารับการตรวจสภาพ เพื่อยืดอายุถังก๊าซต่อได้อีก 5 ปี หากเป็นกรณีที่ก๊าซติดตั้งมาจากโรงงานที่ผลิตรถยนต์ ต้องตรวจสภาพตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป เพื่อใช้ใบวิศวะในการต่อทะเบียน

ปัจจุบันเราจะเห็นว่าสถานีบริการก๊าซธรรมชาติอย่าง CNG สำหรับรถยนต์นั้น เริ่มถยอยปิดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งผู้เข้ารับบริการส่วนใหญ่จะเป็นรถแท็กซี่ สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากเศรษฐกิจและโครงสร้างประเทศที่เปลี่ยนไป รถยนต์ที่เติมก๊าซ CNG นั้นลดน้อยลง โดยเฉพาะรถแท็กซี่เริ่มหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากประหยัด และได้ค่าโดยสารเต็มเม็ดเต็มหน่วย

advertisement

ยานยนต์ คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม