บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงสถิติการจำหน่ายรถยนต์ปี 2566 พร้อมคาดการณ์ตลาดรถยนต์ไทยปี 2567 คาดการณ์ปริมาณการส่งออกลดลง 5% เป้าการผลิตลดลง 0.9% ในขณะที่ตลาดรวมยอดขายในปีนี้มองอาจเติบโตราว 3% เท่านั้น ส่วนในปี 2566 ที่ผ่านมา เลกซัส ประเทศไทย ประสบความสำเร็จด้วยยอดขาย 1,012 คัน เป็นครั้งแรกที่มียอดขายเกิน 1,000 คันต่อปี
ปี 2566 กลายเป็นปีที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังไม่ไปไหน ไม่เติบโต ไม่ถดถอยแบบเด่นชัน ในขณะที่ภาคการส่งออกดีขึ้น คาดว่ามาจากปัจจัยของภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้เกิดการชะลอซื้อรถยนต์เพื่อรอความชัดเจนจากมาตรการของภาครัฐ โดยเฉพาะรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่ได้รับผลกระทบแบบเต็มคาราเบล ในขณะที่ปีที่ผ่านมาสถาบันทางการเงินก็ยังได้เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถ และอัตราดอกเบี้ยก็ยังเป็นโซนขาขึ้นในระดับสูง
ด้านปัจจัยบวกที่ค่อนข้างเด่นชัดสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยสำหรับปีที่ผ่านมา คงจะเป็นกระแสความนิยมของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ รถ EV ที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนด้านราคาจากภาครัฐ รวมถึงตัวเลขการส่งออกรถยนต์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการชดเชยการส่งมอบที่ล่าช้าจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในช่วงที่ผ่านมา
ยอดขายรถยนต์รวมในปี 2566 อยู่ที่ 775,780 คัน หรือลดลง 9% เมื่อเทียบกับปี 2565
สถิติการขายรถ | ยอดขายปี 2566 (คัน) | เทียบกับปี 2565 |
ปริมาณขายรวม | 775,780 | -9% |
รถยนต์นั่ง | 292,505 | +10% |
รถเพื่อการพาณิชย์ | 483,275 | -17% |
กระบะ 1 ตัน (รวมรถดัดแปลง) | 325,024 | -29% |
กระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถดัดแปลง) | 264,738 | -32% |
โตโยต้ามียอดขายโดยรวมอยู่ที่ 265,949 คัน ลดลง 8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 หรือเท่ากับ 34.3% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ส่วนแบ่งทางการตลาดรถยนต์นั่งของโตโยต้ามีการเติบโตสูงขึ้นจากปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มรถอีโคคาร์ที่ยังคงสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 จากความสำเร็จด้านยอดขายของรถยนต์ Yaris ATIV รวมถึงการมีรถยนต์รุ่นใหม่อย่าง Yaris Cross ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา
นอกเหนือจากรถยนต์ภายใต้แบรนด์โตโยต้า ในปี 2566 ที่ผ่านมา แบรนด์ เลกซัส ประเทศไทย ประสบความสำเร็จ มียอดขายสูงสุด อยู่ที่ 1,012 คัน นับเป็นครั้งแรกที่ เลกซัส ประเทศไทย สามารถสร้างยอดขายได้สูงสุดถึงระดับกว่า 1,000 คัน
สถิติขายรถโตโยต้า | ยอดขายปี 2566 (คัน) | เทียบปี 2565 | ส่วนแบ่งตลาด |
ปริมาณการขาย | 265,949 | -8% | 34.3% |
รถยนต์นั่ง | 99,292 | +20% | 33.9% |
รถเพื่อการพาณิชย์ | 166,657 | -19% | 34.5% |
กระบะ 1 ตัน (รวมรถดัดแปลง) | 128,689 | -27% | 39.6% |
กระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถดัดแปลง) | 106,601 | -28% | 40.3% |
คาดว่าจะยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด โดยมีปัจจัยรอบด้านที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวม อาทิ การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น นโยบายของภาครัฐที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายให้เร่งตัวขึ้น การขยายตัวของการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภายในประเทศและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการผลักดันมาตรการสนับสนุนการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลในด้านการส่งออก ตลอดจนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง และทิศทางของนโยบายอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย ทำให้คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2567 จะอยู่ที่ 800,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ประมาณการปี 2567 | ยอดขายประมาณการ ปี 2567 | เทียบกับปี 2566 |
ปริมาณการขายรวม | 800,000 คัน | +3% |
รถยนต์นั่ง | 296,500 คัน | +1% |
รถเพื่อการพาณิชย์ | 503,500 คัน | +4% |
โตโยต้า ตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 277,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 4% โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 34.6%
ประมาณการปี 2567 |
ยอดขายประมาณการ ปี 2567 (คัน) |
เทียบกับปี 2566 | ส่วนแบ่งตลาด |
ปริมาณการขาย | 277,000 | +4% | 34.6% |
รถยนต์นั่ง | 81,700 | -18% | 27.6% |
รถเพื่อการพาณิชย์ | 195,300 | +17% | 38.8% |
กระบะ 1 ตัน (รวมรถดัดแปลง) | 133,264 | +4% | 41.2% |
กระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถดัดแปลง) | 114,500 | +7% | 42.1% |
ในปี 2566 โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปไปจำนวน 379,044 คัน เพิ่มขึ้น 0.2% จากปี 2565 โดยยอดรวมการผลิตรถยนต์สำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกในปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 621,156 คัน หรือลดลง 5.8% จากปี 2565
ปริมาณส่งออกและการผลิตรถโตโยต้า | ปริมาณในปี 2566 (คัน) | เทียบกับปี 2565 |
ปริมาณการส่งออก | 379,044 | +0.2% |
ยอดผลิตรวมส่งออกและขายในประเทศ | 621,156 | -5.8% |
คาดการณ์ว่ายังต้องเผชิญกับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่ำ ตลอดจนภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัว ส่งผลให้โตโยต้าตั้งเป้าปริมาณการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 358,800 คัน หรือลดลง 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และได้ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของปี 2567 อยู่ที่ราว 615,700 คัน หรือลดลง 0.9% จากปีที่ผ่านมา
ปริมาณส่งออกและการผลิตรถโตโยต้า | ปริมาณในปี 2567 (คัน) | เทียบกับปี 2566 |
ปริมาณการส่งออก | 358,800 | -5.0% |
ยอดผลิตรวมส่งออกและขายในประเทศ | 615,700 | -0.9% |