Ford ฟอร์ด ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ฉลองครบรอบ 10 ปี โครงการประกวดนวัตกรรม Ford Innovator Scholarship จัดเสวนาพิเศษเพื่อบอกเล่าความสำเร็จและส่งต่อแรงบันดาลใจจากโครงการ พร้อมกิจกรรม Hackathon เพื่อช่วยฝึกฝนทักษะการสื่อสารนวัตกรรมแก่เยาวชน และการจัดแสดงผลงาน รวมถึงการตัดสินผลงานนักเรียน นักศึกษา 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย โดยเป็นปีแรกที่ทีมเยาวชนจากระดับมัธยมศึกษา สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ไปครอง ด้วยนวัตกรรม ‘ThirdEye’ อุปกรณ์ช่วยอํานวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทางสายตา จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
โครงการประกวดชิงทุนการศึกษา ‘Ford Innovator Scholarship 2024’ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ‘การออกแบบนวัตกรรมพลังบวก เชื่อมต่อชุมชน เพื่อโลกที่ดีกว่า’ (Connect Innovation with Communities for a Better World Challenge)’ โดยเน้นให้ผลงานนวัตกรรมสร้างประโยชน์แก่ชุมชนได้จริง ครอบคลุมแนวทางหลัก 3 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมสร้างศักยภาพเพื่ออาชีพในอนาคต นวัตกรรมเสริมอาชีพเพื่อธุรกิจยุคใหม่ และนวัตกรรมสร้างความปลอดภัยในชุมชน โครงการนี้เปิดรับสมัครผลงานตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีทีมนักเรียน นักศึกษา จากระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษาทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมการแข่งขันถึง 235 ทีม จากนั้นคณะกรรมการได้คัดเลือก 10 ทีมเข้าสู่รอบสุดท้าย ประกอบด้วย ทีมมัธยมศึกษา 2 ทีม ทีมมัธยมศึกษาร่วมกับอุดมศึกษา 1 ทีม ทีมอาชีวศึกษา 3 ทีม และทีมอุดมศึกษา 4 ทีม โดยทีมที่ผ่านเข้ารอบได้ร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปเพื่อพัฒนาทักษะและเสริมความรู้จากผู้เชี่ยวชาญของฟอร์ดและสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA รวมถึงการฝึกเทคนิคการนำเสนอผลงานให้มีประสิทธิภาพจากทีมงานทีวีบูรพาในกิจกรรม Hackathon อีกด้วย
ภายในงานฉลองครบรอบ 10 ปี โครงการ Ford Innovator Scholarship ฟอร์ด ประเทศไทย และพันธมิตร ได้จัดเวทีเสวนาพิเศษที่มีผู้ชนะจากโครงการในปีก่อนหน้า เช่น นายธีรภัทร ล่องเลี่ยม นักเรียนผู้ชนะโครงการประกวดในปี 2021 นายชุมพล ชารีแสน อาจารย์จากโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ ที่ปรึกษาโครงงานที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ปี 2023 นายสนิท สุวรรณศร ที่ปรึกษาสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ พีดีเอ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวมถึงนางสาวกมลชนก ประเสริฐสม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ฟอร์ด ประเทศไทยและตลาดอาเซียน ร่วมแชร์ความสำเร็จของโครงการและส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสังคมที่น่าอยู่ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงผลงานที่ผ่านเข้ารอบ และกิจกรรม Hackathon กระตุ้นความคิดในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานก่อนการนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการในช่วงบ่าย โดยมีรายละเอียดผลการแข่งขันในปีนี้ ดังนี้
ผลงาน ‘นวัตกรรม ThirdEye อุปกรณ์ช่วยอํานวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทางสายตา’ จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ซึ่งออกแบบและสร้างอุปกรณ์เพื่อช่วยอํานวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทางสายตา โดยใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้เชิงลึก และกลไกการให้ความสนใจเชิงภาพ เพื่อจําลองการทํางานด้านการมองเห็นของมนุษย์ผ่านโมเดลโครงข่ายประสาทเทียมในการประมวลผลภาพ เช่น การจําแนกภาพ การตรวจจับวัตถุ และการสร้างคําอธิบายภาพ มีความสามารถในการระบุตําแหน่งสิ่งของ อ่านข้อความ ป้าย และสัญลักษณ์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยํา ด้วยการทํางานอัตโนมัติหรือสั่งการด้วยเสียงได้ ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาใช้ชีวิตประจําวันได้อย่างอิสระและปลอดภัยมากขึ้น
ผลงาน ‘นวัตกรรมวัสดุหนังเทียมเพื่อความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น’ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอย่างเปลือกโกโก้ ใยเปลือกทุเรียน และเปลือกมังคุด ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ต้นทุนต่ำ มีคุณสมบัติยืดหยุ่น ทนทาน และย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ และสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียได้ เหมาะสำหรับนำมาเป็นวัสดุทดแทนหนัง นวัตกรรมนี้ไม่เพียงแต่เพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้ง แต่ยังสามารถสามารถสร้างสินค้าทันสมัย และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
ผลงาน ‘นวัตกรรม CS-M Tool เครื่องมือตรวจโรคหัวใจด้วยตนเองเสต็ทโตสโคปวิเคราะห์ร่วมกับเทคโนโลยีเอไอ (AI) ผ่านแอปพลิเคชัน’ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางแพทย์ตัวแรก ที่ช่วยให้ทุกคนสามารถตรวจโรคหัวใจได้ด้วยตนเองง่ายๆ ที่บ้าน ด้วยการใช้เสียงหัวใจฟังผ่านเสต็ทโตสโคป จากนั้นวิเคราะห์เสียงด้วย AI และแสดงผลผ่านแอปพลิเคชัน นวัตกรรมนี้ช่วยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที ลดโอกาสการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการตรวจโรคหัวใจได้มากขึ้น
ผลงาน ‘นวัตกรรมเครื่องนับจำนวนและแยกไซซ์ขนาดทุเรียนบนต้นด้วยเทคโนโลยีเอไอ (AI)’ จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี นวัตกรรมนี้ ได้รับการออกแบบให้เคลื่อนที่ได้สะดวก เพิ่มประสิทธิภาพโดยลดต้นทุนแรงงานในการนับผลผลิตทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง