"อิน-จัน-มั่น-คง" ฝังคนลงในหลุมให้เป็นผี มีหน้าที่เฝ้าเสาหลักเมือง เรื่องจริงหรือแค่ความเชื่อในตำนาน?
หนึ่งในความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับ "เสาหลักเมือง" นั่นก็คือ ในแต่ละเสาจะมีวิญญาณที่ชื่อ "อิน จัน มั่น คง" ทำหน้าที่ปกปักรักษา คอยเฝ้าไม่ให้สิ่งชั่วร้ายมากล้ำกรายบ้านเมือง โดยมีการเล่าต่อๆ กันมาว่า เมื่อจะสร้างเสาหลักเมืองหรือประตูเมือง เจ้าเมืองก็จะให้ทหารออกไปเดินตามหมู่บ้านในเวลากลางคืน แล้วร้องตะโกนเรียก "อิน จัน มั่น คง" เมื่อมีคนที่ชื่อนั้นขานรับครบทั้ง 4 คนแล้ว ก็จะนำมาเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี จนเมื่อถึงฤกษ์ดีก็จะผลักทั้งหมดนี้ลงหลุม แล้วตอกเสาทับ กลบดินฝัง เพราะเชื่อกันว่าทั้ง 4 คน เมื่อตายไปแล้ววิญญาณจะไม่ไปไหน แต่จะกลายเป็นผีเฝ้ารักษาเมือง
เรื่องนี้มีการเล่ากันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา "เยเรเมียส ฟาน ฟลีต" นายห้างชาวฮอลันดาซึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยานาน 15 ปี และเขียนหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยไว้ 5 เล่ม ได้กล่าวถึงการสร้างประตูเมืองของกรุงศรีอยุธยาว่า การจะสร้างพระราชวัง หอสูง หลักเมือง ใต้เสาแต่ละต้นจะมีการโยนหญิงสาวท้องแก่ลงไปในหลุมแล้วตอกทับ เพราะเชื่อว่าวิญญาณของผู้หญิงเหล่านี้ เมื่อตายไปแล้วจะกลับเป็นผีที่ดุร้าย คอยวนเวียนปกป้องเสา และช่วยให้พ้นจากโชคร้าย
นอกจากนี้ ในหนังสือประวัติจังหวัดภูเก็ต ฉบับฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อ พ.ศ. 2500 ได้กล่าวถึงการฝังหลักเมืองไว้ว่า เจ้าเมืองถลางได้ดำริให้สร้างเมืองขึ้นมาใหม่ หลังท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทรได้ถึงอสัญกรรม มีการป่าวร้องหาหญิงสาวที่มีสี่หูสี่ตา นั่นคือหญิงสาวที่กำลังตั้งครรภ์ จนในที่สุดก็ได้หญิงท้งแก่คนหนึ่งมา เมื่อถึงเลาพลบค่ำก็จัดการโยนลงไปในหลุม ใช้ฝาปิดแล้วฝังกลบเป็นอันเสร็จพิธี อย่างไรก็ตาม
เรื่องของนายห้างชาวฮอลันดา ไม่มีหลักฐานยืนยัน ส่วนเรื่องการสร้างหลักเมืองถลางก็ไม่เคยปรากฏในพงศาวดารเมืองภูเก็ตแต่อย่างใด
เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงใช้พระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" ทรงมีพระราชดำริให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตรงข้าม จากนั้นก็เริ่มสร้าง "กรุงรัตนโกสินทร์" พร้อมๆ กับการสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้นมา
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ โปรดให้มีพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๓๒๕ เวลา ๐๖.๕๔ น.ซึ่งได้จารึกติดอยู่ที่เสาหลักเมืองว่า “วันอาทิตย์เดือนหกขึ้นสิบค่ำปีขาลจัตวาศกจุลศักราช ๑๑๔๔ เวลาย่ำรุ่ง ๕๔ นาที ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕” โดยไม่มีการฝังคนทั้งเป็นเหมือนบันทึกในอดีต เนื่องจากรัชกาลที่ ๑ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ทรงทำพระราชพิธีตามตำรา "พระราชพิธีนครฐาน" ที่มีมาแต่โบราณกาลหลายฉบับ แต่ไม่มีฉบับใดกล่าวว่าใช้ตนชื่อ "อิน จัน มั่น คง" และ "ผู้หญิงท้อง" มาฝังลงในหลุมอย่างโหดร้ายทารุณตามที่เล่าขานกันมา
ตำราได้กล่าวว่า ให้เอาดินจากทิศทั้ง 4 มาปั้นเท่าผลมะตูม สมมติเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ให้คนถือคนละก้อนยืนอยู่ที่ปากหลุมคนละทิศ เมื่อพราหมณ์ผู้ทำพิธีถามว่าดินแต่ละก้อนนั้นมีคุณประการใด คนที่ถือก้อนธาตุดินก็บอกคุณของดินในมือตนว่า พระนครนั้นจะมีอายุยืนยาว เป็นที่ประชุมของประชาชนชั่วกัลปวสาน คนถือก้อนธาตุน้ำบอก พระกษัตริย์และเสนาอำมาตย์จะเจริญอายุวรรณะประสบสิริสวัสดิ์มงคลทั้งปวง คนถือก้อนธาตุลมว่า การกสิกรรมและพาณิชกรรมจะเจริญรุ่งเรือง สมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร ส่วนคนถือก้อนธาตุไฟว่า เหล่าทหารจะแกล้วกล้า มีเดชเดชาเหนือเหล่าข้าศึก
เมื่อกล่าวจบแต่ละคนก็จะโยนก้อนดินลงในหลุม ตามด้วยแผ่นศิลายันต์ แล้วจึงอัญเชิญเสาหลักเมืองลงตั้งบนแผ่นศิลา อัญเชิญเทวดาเข้าประจำรักษาพระนคร ไม่มีการนำคนชื่อ "อิน จัน มั่น คง" หรือ หญิงท้องแก่ลงไปฝัง ซึ่งจะเป็นการสะเทือนใจชาวพุทธเกินกว่าที่จะรับกันได้ และจะไม่เป็นมงคลแก่พระนครเป็นแน่แท้ จึงสันนิษฐานได้ว่า เรื่องฝังคนทั้งเป็นให้เป็นผีเฝ้าเสาเมือง น่าจะเป็นเรื่องเลาที่ลือต่อๆ กันมาจนหลายคนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง
นอกจากนี้ยังมองว่า เรื่องเล่า "อิน จัน มั่น คง" คงเป็นกุศโลบายของคนโบราณที่เป็นห่วงลูกหลาน จึงเตือนว่ายามวิกาลถ้าได้ยินเสียงผิดปกติอย่าทัก หรือหากมีใครที่ไม่คุ้นเคยส่งเสียงเรียกก็อย่าไปขานรับ เพราะในสมัยก่อนเชื่อกันว่า เวลากลางคืนเป็นเวลาที่น่ากลัว ทั้งภูตผีปิศาจ โจรจะออกอาละวาด อีกทั้งพวกเล่นไสยศาสตร์ก็จะมีการปล่อยของลองวิชากัน จึงใช้เรื่องนี้เพื่อให้เกิดการยำเกรงก็เป็นได้
Advertisement