"ดร.อนันต์" เผยนัยสำคัญ 3 ข้อเกี่ยวกับ ฝุ่น PM 2.5 กระทบภูมิคุ้มกัน ย้ำใส่หน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพ เลี่ยงออกนอกบ้านช่วงค่ามลพิษสูง ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2568 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ให้ข้อมูลด้านสุขภาพ สืบเนื่องจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในขณะนี้
"ดร.อนันต์" เผยผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana โดยระบุว่า "ช่วงนี้พบคนเป็นหวัดเยอะมาก ตัวผมเองก็มีอาการคล้ายหวัดหลายรอบตั้งแต่ต้นปี เลยเริ่มสงสัยว่าการที่เราอยู่กับฝุ่น PM 2.5 มากๆจะมีผลกระทบอะไรต่อระบบภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจมากแค่ไหน เริ่มสงสัยว่าที่หายใจไม่ออก คัดจมูกมาเป็นอาทิตย์ตกลงเป็นหวัดหรือเป็นเพราะฝุ่นทำให้ร่างกายอ่อนแอต่อเชื้อที่ปกติไม่ค่อยมีผลต่อร่างกาย เลยลองหางานวิจัยอ่านดู พบหลักฐานเยอะเลยครับว่าสมมติฐานนี้มีความเป็นไปได้สูง บทความนี้ตีพิมพ์ใน European Respiratory Review เมื่อไม่กี่เดือนก่อน เขียนไว้ค่อนข้างละเอียดเลยครับ สรุปให้ตัวเองหายสงสัยง่ายๆ ได้ตามนี้
"ดร.อนันต์" เผยว่า ในช่วงที่มีค่า PM2.5 สูง ร่างกายของเรามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า PM2.5 ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในหลายระดับ
1. PM 2.5 ทำลายด่านป้องกันแรกของระบบทางเดินหายใจ โดยทำให้เซลล์เยื่อบุผิวทางเดินหายใจ (epithelial cells) เสียหาย ทำลายการทำงานของ Cilia ที่มีหน้าที่โบกพัดเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้เกิดการผลิตเมือกที่มากเกินปกติ สภาวะเหล่านี้เอื้อให้เชื้อแบคทีเรียสามารถเกาะติดและเจริญเติบโตในทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น เนื่องจากกลไกการป้องกันตามธรรมชาติถูกทำลายลง
2. PM 2.5 รบกวนการทำงานของเซลล์แมโครฟาจ (macrophages) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่จับกินและทำลายเชื้อโรค
การศึกษาพบว่า PM2.5 ลดประสิทธิภาพการจับกินเชื้อโรค (phagocytosis) และการทำลายเชื้อโรคของแมโครฟาจ เมื่อกลไกนี้ถูกรบกวน ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
3. PM 2.5 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะเท่านั้น แต่ยังรบกวนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะด้วย โดยส่งผลต่อสมดุลของเม็ดเลือดขาวชนิด T cells และรบกวนการผลิตสารภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะ IgA ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ PM2.5 ยังกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรังผ่านการเพิ่มการผลิตสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ เช่น IL-6, TNF-α และ IL-1β ซึ่งหากเกิดขึ้นเป็นเวลานานจะนำไปสู่การเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังได้
"ดร.อนันต์" เผยต่อว่า ในกรณีของการติดเชื้อไวรัส PM2.5 ยังส่งเสริมให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายขึ้น เช่น ในกรณีของ COVID-19 พบว่า PM2.5 เพิ่มการแสดงออกของโปรตีน ACE2 และ TMPRSS2 ซึ่งเป็นตัวรับที่ไวรัสใช้ในการเข้าสู่เซลล์ นอกจากนี้ยังพบว่า PM2.5 ยังกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านไวรัส โดยลดการผลิตอินเตอร์เฟียรอน (interferon) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการต่อต้านการติดเชื้อไวรัส หรือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่อย่าง H3N2 ที่พบติดกันเยอะมากก็มีรายงานว่าติดง่ายขึ้นมากจากการที่ PM 2.5 ไปรบกวนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ในช่วงที่มีค่า PM2.5 สูง ประชาชนควรระมัดระวังและป้องกันตนเองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ การสวมหน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพ การหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในช่วงที่มีมลพิษสูง และการรักษาสุขอนามัยที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้
Advertisement