Flexitarian มังสวิรัติแบบยืดหยุ่น เทรนด์ใหม่ของหนุ่มสาวยุคมิลเลนเนียลที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า และใส่ใจสุขภาพ อยากลดเนื้อสัตว์ กินผักให้มากขึ้น
เทรนด์การรักสุขภาพด้วยการหันมารับประทานมังสวิรัติ หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า "กินมัง" ได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคนี้ เพราะนอกจากจะไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ ยังช่วยรักษาสุขภาพอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม บางคนอาจจะไม่สะดวกที่จะงดรับประทานเนื้อสัตว์ไปเลย จึงทำให้เกิดเทรนด์ที่เรียกว่า Flexitarian หรือการรับประทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น
Flexitarian คืออะไร
ก่อนจะพูดถึง Flexitarian ขอให้ทุกคนมารู้จักมังสวิรัติหรือ Vegetarian กันก่อน มังสวิรัติมีมาตั้งแต่ยุคอินเดียและกรีกโบราณ ถือคติการกินที่ละเว้นจากการเบียดเบียนสัตว์ (มังสะ แปลว่า เนื้อสัตว์ วิรัติ แปลว่า ไม่ยินดี) คนที่กินมังสวิรัติจึงหมายถึง ผู้ที่ไม่ยินดีในการกินเนื้อสัตว์
ทั้งนี้ มังสวิรัติ Vegetarian กับ วีแกน Vegan คนมักเข้าใจสับสนว่าเป็นแบบเดียวกัน แต่ที่จริงนั้นแตกต่างกัน เพราะชาววีแกนเชื่อว่าสัตว์มีสิทธิในตัวเอง จึงไม่รับประทานอาหาร รวมถึงการใช้เครื่องอุปโภคที่ได้มาจากสัตว์หรือมีการทดลองจากสัตว์ด้วย
สำหรับ Flexitarian เป็นคำที่ผสมระหว่าง Flexible และ Vegetarian คือ การกินมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชเป็นหลัก และเพิ่มโปรตีนให้กับร่างกายด้วยการรับประทานพืชหรือสิ่งที่ให้โปรตีนสูง เช่น เต้าหู้ เมล็ดฟักทอง ถั่วแดง ถั่วเขียว ฯลฯ โดยสามารถกินนมและไข่ได้ และรับประทานเนื้อสัตว์ได้ในบางมื้อ เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกเครียดจนเกินไป ซึ่ง Dawn Jackson Blatner ผู้เขียนหนังสือ Flexitarian Diet เล่มแรกได้ให้คำนิยามของวิถีการกินนี้ไว้ว่า "คุณสามารถเรียกมันว่าการกินแบบ ‘เกือบจะมังสวิรัติ’ ก็ได้ เพราะนี่คือวิถีการกินที่คุณยังสามารถเพิ่มโปรตีนจากเนื้อสัตว์ในบางโอกาส" โดยผู้ที่เริ่มต้น Flexitarian อาจเริ่มจากงดเนื้อสัตว์วันละมื้อ แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนเข้าไปจนร่างกายเกิดความสมดุล
Flexitarian ช่วยลดภาวะโลกร้อน
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ระบุว่า Flexitarian การกินมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยจำกัดอุณหภูมิโลกให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส นักวิจัยยังพบว่า Flexitarian สามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์จากการเกษตร และลดผลกระทบของการผลิตอาหารที่มีต่อน้ำ ไนโตรเจน และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งในทางกลับกันสามารถลดต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์และความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือต้นทุนในการลดคาร์บอนลง 43% ในปี 2050
"การเปลี่ยนแปลงไปสู่การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คน ที่ดิน และระบบอาหารเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย ในแง่ของความรวดเร็วในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก" ฟลอเรียน ฮัมเพโนเดอร์ ผู้เขียนการศึกษาและนักวิทยาศาสตร์อาวุโสของสถาบันพอทสดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบสภาพภูมิอากาศ กล่าว
นอกจากนี้ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่าหากทุกคนกินเนื้อสัตว์น้อยลง หรืองดเนื้อสัตว์ จะช่วยทำให้โลกดีขึ้น เช่น ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตอาหารร้อยละ 49 โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติอ้างว่า การทำปศุสัตว์มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกถึงร้อยละ 14.5 และยังช่วยลดพื้นที่ที่ใช้ในการผลิตอาหารร้อยละ 76 เนื่องจากร้อยละ 67 ของการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการเกษตร มีสาเหตุมาจากความต้องการที่ดินสำหรับเป็นอาหารสัตว์และทุ่งหญ้า ซึ่งทำให้คาร์บอนถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น
ประโยชน์ของ Flexitarian มังสวิรัติแบบยืดหยุ่น
• สุขภาพหัวใจแข็งแรง เพราะการรับประทานอาหารแบบเน้นผัก-ผลไม้ ทำให้ได้รับไฟเบอร์และสารต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งช่วยลดระดับความดันโลหิตและดีต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
• ช่วยลดน้ำหนัก ผักผลไม้มีแคลอรี่น้อยกว่าอาหารประเภทเนื้อสัตว์ แต่กลุ่ม Flexitarian อาจน้ำหนักลงช้ากว่ากลุ่มที่ทานมังสวิรัติ 100% เพราะยังรับประทานเนื้อสัตว์อยู่บ้าง
• ลดความเสี่ยงจากมะเร็ง สารอนุมูลอิสระในผักผลไม้ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้
• ลดความเสี่ยงจากโรคเบาหวาน เพราะการเลี่ยงการปรุงอาหารด้วยน้ำตาล และเน้นผักผลไม้ จึงทำให้ทุกมื้อนั้นเฮลตี้ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะระดับน้ำตาลในเลือด
อยากลองเป็น Flexitarian มังสวิรัติแบบยืดหยุ่น ทำยังไง
สำหรับผู้ที่สนใจอยากหันมากิน Flexitarian เริ่มต้นได้ไม่ยาก แค่ยึดหลักง่ายๆ คือกินเนื้อให้น้อยเข้าไว้ เริ่มจากวันละมื้อ แล้วเมื่อปรับตัวได้จึงค่อยๆ เพิ่มให้มากขึ้นตามที่ร่างกายไหว โดยให้เลือกรับประทานผักเป็นหลัก เปลี่ยนโปรตีนจากสัตว์เป็นโปรตีนจากพืชเช่น ถั่วเหลือง เต้าหู้ ธัญพืช รับประทานคาร์โบไฮเดรตจาก ข้าวกล้อง ข้าวไม่ขัดสี หรือพืชหัวจำพวกมันฝรั่ง และเสริมด้วยโปรตีนจากสัตว์บางมื้อ โดยเน้นปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ นม โยเกิร์ต
สำหรับ Flexitarian มีเมนูแนะนำง่ายๆ เช่น สลัดอกไก่ โยเกิร์ต ผักโขมอบชีส ผัดเต้าหู้ใส่ถั่วงอก เผือก-เต้าหู้ทอด ต้มจับฉ่าย ต้มยำ ต้มข่า แกงส้มผักรวม ผัดบวบใส่ไข่ เป็นต้น
อ้างอิงจาก Oxford University , The Guardian
Advertisement